xs
xsm
sm
md
lg

ภาคเอกชนพอใจอาเซียนแก้ปัญหาการใช้มาตรการกีดกันการค้า และหนุนการตั้งเป้าลดต้นทุนทำธุรกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สภาธุรกิจร่วมอาเซียนพอใจผลการดำเนินการด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า หลังมีไกด์ไลน์การใช้มาตรการที่มิใช่ภาษี มีการจัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติคอยกำกับดูแล มีเป้าหมายลดต้นทุนการทำธุรกรรมทางการค้าลง 10% ในปี 63 และมีการพัฒนาระบบคลังข้อมูลการค้าของอาเซียน เผยเอกชนยังเสนอให้เพิ่มมูลค่าขั้นต่ำของการขนส่งที่ซื้อขายออนไลน์เพื่อลดต้นทุนและบูมค้าขายในอาเซียน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาร่วมด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน หรือ ATF-JCC ครั้งที่ 15 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-11 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมได้มีการติดตามผลการดำเนินงานตามแผนงานด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน โดยสมาชิกทั้ง 10 ประเทศพร้อมดำเนินการตามแนวปฏิบัติเรื่องการใช้มาตรการที่มิใช่ภาษี (NTM) โดยได้ตกลงที่จะใช้มาตรการเมื่อจำเป็นและมีเหตุผลอันควร, รับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสียก่อนใช้มาตรการ, มีการเผยแพร่รายละเอียดของมาตรการเพื่อความโปร่งใส, มีการประเมินผลของมาตรการที่ใช้ และจะปรับปรุงทบทวนมาตรการเป็นระยะ รวมทั้งได้มีการยืนยันว่าได้จัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อกำกับดูแลการใช้มาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าของตนให้สอดคล้องกับกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก (WTO) แล้ว

สำหรับเป้าหมายการลดต้นทุนการทำธุรกรรมทางการค้า (Trade Transaction Cost หรือ TTC) ลง 10% ภายในปี 2563 ตามมติที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อปี 2560 ที่ประชุมมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่กำหนด โดยในขณะนี้สถาบันวิจัยเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) กำลังดำเนินการร่วมกับ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนในการคำนวณตัวเลขที่จะใช้เป็นมาตรวัดการลดต้นทุนการทำธุรกรรมทางการค้า ได้แก่ ระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจปล่อยสินค้า ณ ด่านศุลกากร ระยะเวลาที่สินค้าพักรอที่ท่าเรือ และระยะเวลาที่ใช้ในการออกใบอนุญาต ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นทันเวลาที่อาเซียนจะนำมาใช้

ส่วนการพัฒนาระบบคลังข้อมูลการค้าของอาเซียน (ASEAN Trade Repository หรือ ATR) และเผยแพร่ข้อมูลในเว็บไซต์ https://atr.asean.org/ เพื่อเปิดให้ผู้สนใจสืบค้นข้อมูลนั้น อาเซียนอยู่ระหว่างการปรับปรุงฐานข้อมูลเพื่อผนวกข้อมูลการใช้มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (มาตรการ SPS) ของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนไว้ในเว็บไซต์ รวมทั้งยังได้เพิ่มช่องทางการติดต่อผ่านเว็บไซต์ เพื่อให้เอกชนหรือผู้ประกอบการที่สนใจสอบถามหรือแจ้งปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับกฎระเบียบการค้าของรัฐ สามารถแจ้งผ่านระบบ ASSIST (https://assist.asean.org/) เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐของอาเซียนได้ทราบและแก้ไขปัญหาต่อไปด้วย

ทั้งนี้ ในการประชุม อาเซียนได้เปิดให้ผู้แทนสภาธุรกิจร่วม (Joint Business Council: JBC) ซึ่งประกอบด้วยสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ABAC) สภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ABC) และสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (US-ABC) เข้าร่วมประชุมกับ ATF-JCC ในเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า และผลักดันในเรื่องที่สภาธุรกิจร่วมสนใจ โดยภาคเอกชนมีความพอใจในประเด็นที่อาเซียนมุ่งลดต้นทุนในการทำธุรกรรมของผู้ประกอบการ การแก้ปัญหาการใช้มาตรการที่มิใช่ภาษี และมีความคืบหน้าการเชื่อมโยงระบบการแลกเปลี่ยนเอกสารทางศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ (ASEAN Single Window)

“สภาธุรกิจร่วมได้ใช้โอกาสนี้เสนอโครงการขยายเพดานมูลค่าขั้นต่ำของการขนส่งสินค้าที่ซื้อขายผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Low Value Shipment Programme) เพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการ และส่งเสริมการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งอาเซียนจะนำเรื่องนี้ไปหารือกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป” นางอรมนกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น