xs
xsm
sm
md
lg

งานค้างท่อ! อุตสาหกรรม-พลังงาน เสิร์ฟร้อนๆ ประเคนรัฐมนตรีใหม่แก้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงาน ถือเป็นกระทรวงที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรมที่แม้จะไม่ใช่กระทรวงเกรด A เฉกเช่นกระทรวงอื่นๆ เพราะมีงบประมาณค่อนข้างต่ำ และกระทรวงพลังงานเองแม้จะเป็นเกรด A แต่งบประมาณก็จัดว่าอยู่ปลายแถว แต่เมื่อมองให้ลึกท่ามกลางสถานการณ์สงครามการค้าโลกที่รุนแรง และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลก (Disruptive Technologies) 2 กระทรวงนี้จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เพราะทั้งภาคอุตสาหกรรม และพลังงาน ล้วนเป็นกลไกหลักในการดูแลเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีหลายเรื่องหลายประเด็นที่ยังคงค้างท่อและปัญหาใหม่ที่ส่อเค้าจะเกิดขึ้นยังคงรอให้รัฐมนตรีใหม่ทั้ง 2 กระทรวงเข้ามาทั้งสานต่อและสะสางปัญหา ดังนั้น หากฝ่าด่านประเด็นร้อนๆ ไปได้ก็ย่อมหมายถึงคะแนนเสียงที่ตุนไว้ย่อมมีมากตามไปด้วย

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย…อุตสาหกรรมนี้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งมาตรา 44 ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ที่หลักๆ นำไปสู่การลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศ ยกเลิกระบบโควตาการจัดสรรน้ำตาล เลิกการอุดหนุนเพื่อไม่ให้บราซิลฟ้องร้องไทยต่อองค์การการค้าโลก (WTO) แต่คำสั่งนี้มีผลบังคับถึง ก.ย.นี้เท่านั้น จึงต้องหากฎหมายอื่นที่มีอยู่มาบริหารต่อเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในทางปฏิบัติ

แต่เรื่องที่รอให้สะสางดูจะพัวพันมากมายทั้งราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 2562/63 ที่ส่อแววจะตกต่ำจากราคาน้ำตาลตลาดโลกอีกปีหนึ่งซึ่งแน่นอนว่าที่สุดอาจเกิดการกดดันให้รัฐมนตรีอุตสาหกรรมต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอเงินงบประมาณในการสนับสนุนเพิ่มราคาอ้อยเช่นฤดูที่ผ่านมา (ปี 61/62) ที่ ครม.อนุมัติช่วยเพิ่มค่าอ้อยเป็นเงินงบประมาณ 6,500 ล้านบาท หรือเพิ่มค่าอ้อยให้อีก 50 บาทต่อตัน และเมื่อมองไปยังฐานะกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) หลังลอยตัวการเก็บเงินส่วนต่างราคาที่กำหนดไว้ก็ดูเหมือนจะต่ำกว่าที่คาดทำให้เม็ดเงินที่จะมาเพิ่มค่าอ้อยอีกทางก็คงน้อยลง

ขณะที่ฤดูหีบอ้อยที่จะเริ่มอีกครั้งในปลายปีนี้ก็ต้องปฏิบัติตามมติ ครม.ที่กำหนดโรดแมปในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้วยการทยอยเลิกเผาอ้อย โดยปี 62/63 กำหนดให้โรงงานน้ำตาลจะรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 30% ต่อวัน ปี 63 /64 รับได้ไม่เกิน 20% ต่อวัน และเหลือเพียง0-5% ต่อวันหรืออ้อยไฟไหม้หมดใน 3 ปี เรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนจัดซื้อรถตัดอ้อย การจัดทำแปลงเพาะปลูกให้เหมาะสม ฯลฯ ขณะที่ชาวไร่อ้อยเริ่มส่งเสียงแว่วๆ แล้วว่ามาตรการนี้ไม่ง่ายอย่างที่คิดไว้ นี่แค่เบาะๆ ยังมีอีกหลายเรื่องสำหรับอุตสาหกรรมนี้ที่ต้องเร่งเข้ามาสะสาง

เหมืองทองคำ ประเดิมเดือดในสภาฯ เป็นประเด็นร้อนตั้งแต่การประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีที่มีการถกเถียงถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจมาตรา 44 ปิดทำการเหมืองแร่ทองคำชาตรีของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่ จ.พิจิตร นับตั้งแต่ 31 ธ.ค. 2559 โดยฝ่ายค้านระบุว่าอาจทำให้ไทยแพ้คดีต้องจ่ายค่าโง่เป็นเงินสูงถึง 4 หมื่นล้านบาท แม้ว่าการเลือกนายกฯจะจบไปแล้วโดยมีลุงตู่กลับมาทำหน้าที่ต่อ แต่ประเด็นดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่คงต้องศึกษาอย่างถี่ถ้วนและเตรียมพร้อมรับมือไว้เพราะเชื่อว่าฝ่ายค้านจะกัดไม่ปล่อยแน่

ทั้งนี้ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ผู้ประกอบการเหมืองแร่ในออสเตรเลีย บริษัทแม่ของอัคราฯ ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทกรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านกับอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศและเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐบาลไทยเป็นเงิน 4 หมื่นล้านบาท โดยยืนยันว่าไทยไม่มีหลักฐานและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ที่จะพิสูจน์ได้ว่าเหมืองอัคราปล่อยสารพิษจนกระทบต่อสุขภาพประชาชนรอบเหมือง ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ผ่านมาต่างยืนยันว่าการปิดเหมืองทองคำที่กระทบต่อสุขภาพประชาชนมีหลักฐานและเหตุผลเพียงพอและมั่นใจว่าจะชนะคดี

อย่างไรก็ตาม วันที่ 18-29 พฤศจิกายน 2562 ทางบริษัท คิงส์เกต และรัฐบาลไทย มีกำหนดที่จะเข้าสู่กระบวนการไต่สวนพยานตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการเป็นครั้งแรก ณ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนดังกล่าวเชื่อว่าผู้บริหารคิงส์เกตน่าจะขอเจรจา เพราะเริ่มแพลมๆ ผ่านสื่อมาแล้ว... งานนี้คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่าจะก้าวต่อไปอย่างไรแน่

การบ้าน “สมคิด” โจทย์ที่ท้าทาย กระทรวงอุตสาหกรรมงบประมาณต่ำมาก


แต่ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีกลับให้ความสำคัญอย่างยิ่ง จนถึงขั้นลงมาไล่บี้ให้ทำการบ้านไว้รองรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ที่หากเดาไม่ยากคงจะไม่ไกลตัว “สมคิด” มากนัก โดยท่านมามอบการบ้านตั้งแต่เนิ่นๆ ถึงที่เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ให้เอาไว้ทำกันล่วงหน้า โดยเน้นน้ำหนักอันดับแรกให้มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่เกษตรอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรของไทยในการยกระดับรายได้ของเศรษฐกิจฐานราก ส่วนอุตสาหกรรมเป้าหมายต่างๆ ที่พัฒนาอยู่ก็คงดำเนินต่อไปตามปกติควบคู่ โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ฯลฯ โดยต้องเป็นไปอย่างก้าวกระโดด

นอกจากนี้ยังมอบนโยบายให้มุ่งเน้นความร่วมมือกับเอกชนในการพัฒนาประสิทธิภาพการแข่งขันของภาคเอกชนที่ ต้องปรับไปสู่นวัตกรรมและดิจิทัลมากขึ้น หรือปรับปรุงเครื่องจักรไปสู่ 4.0 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ประเทศเพิ่มขึ้น พร้อมกับให้เร่งยกระดับการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) และสตาร์ทอัพการใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมรองรับการผลิตและแปรรูปวัตถุดิบท้องถิ่น เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ฯลฯ ที่เป็นโจทย์ให้กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ไปคิดไว้

งานนี้ “สมคิด” มีขู่ไว้ด้วยว่าการทำงานต้องประสานกับสถาบันในสังกัด โดยเฉพาะสถาบันอาหารสำคัญเนื่องจากจะช่วยเข้ามาตอบโจทย์เกษตรอุตสาหกรรมหากทำไม่ได้ก็ให้ยุบไป ส่วนปลัดอุตสาหกรรมซึ่งเตรียมต้องสรรหาใหม่เพราะนายพสุ โลหารชุน จะหมดวาระเดือน ก.ย.นี้ ดังนั้น คนใหม่จะต้องเป็นปลัดดิจิทัล เรียกว่าประเด็นอาจจะไม่ร้อนมากมาย แต่การบ้านของ “สมคิด” ครั้งนี้รอวันที่จะกลับมาตรวจในฐานะรองนายกฯ อีกแน่นอน

พีดีพีกับเค้กก้อนโตนับแสนล้าน... คงต้องติดตามใกล้ชิดกับนโยบายกระทรวงพลังงานว่าด้วยแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ของประเทศไทย (พีดีพี 2018) ปี พ.ศ. 2561-80 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ พลังงานทดแทน การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ฯลฯ ที่มีมูลค่านับแสนล้านบาท โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าหลัก 8 โรงกำลังผลิตกว่า 6,000 เมกะวัตต์ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ที่จะต้องเปิดประมูล นอกจากนี้ยังว่าด้วยการซื้อไฟพลังงานทดแทนที่แผนพีดีพีดังกล่าวถูกเอกชนในกลุ่มของพลังงานหมุนเวียนไปยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางที่มองว่าไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงประกอบกับมีการหยุดรับซื้อไฟบางช่วงหายไป ฯลฯ โอกาสที่จะมีการปรับปรุงแก้ไขจะมีหรือไม่ต้องรอลุ้นกัน

นอกจากนี้ การซื้อไฟจากโซลาร์ภาคประชาชนที่แผนพีดีพีกำหนดไว้รวมหมื่นเมกะวัตต์ แต่นำร่อง 1,000 เมกะวัตต์ 10 ปีแรก ด้วยการทยอยรับซื้อปีละ 100 เมกะวัตต์ ที่ขณะนี้เปิดให้ยื่นอยู่จนถึงสิ้นปีนี้นั้นจะทบทวนรายละเอียดด้วยหรือไม่ เช่นเดียวกับกรณีที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เห็นชอบให้ บ.ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก ทั้งในส่วนที่ทดแทนโรงเดิมของไตรเอ็นเนอร์ยี่ ขนาด 700 เมกะวัตต์ และโรงที่สร้างขึ้นใหม่ อีก 700 เมกะวัตต์ รวม 1,400 เมกะวัตต์ซึ่งจะจ่ายไฟเข้าระบบปี 67-68 โดยไม่มีการเปิดประมูลจะมีการลงนามซื้อขายไฟกับ กฟผ.จะเกิดข้อท้วงติงถึงขั้นตอนที่ต้องมาตีความทางกฏหมายหรือไม่ซึ่งเหล่านี้รมว.พลังงานคนใหม่ก็ต้องเตรียมรับมือ

รวมไปถึงการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ล่าสุดรัฐกำหนดให้ กฟผ.นำร่องจัดหา 1.5 ล้านตันต่อปีที่แม้ว่าจะได้ชื่อผู้ชนะเป็น บ.ปิโตรนาส แอลเอ็นจี ที่ไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ แต่ กบง.เบรกเอาไว้เพราะให้ศึกษาว่าจะเกิดปัญหาซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ก็ต้องจ่ายเงิน (Take or Pay) หรือไม่ …นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องมาสานต่อ แน่นอนว่าตลาด LNG นั้นเอกชนต่างก็จับจ้องที่จะเข้ามาช่วงชิงตลาดแข่งกับปตท.เช่นกัน ....

ปาล์มบนเส้นทางพลังงาน ….. ราคาปาล์มตกต่ำที่ผ่านมากระทรวงพลังงานถือเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเข้ามาดูดซับสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ที่ล้นทะลัก ด้วย 2 มาตรการหลักได้แก่ การนำใช้นำไปผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันมีเกรดมาตรฐานเป็นบี 7 โดยการส่งเสริมการจำหน่ายบี 10 โดย ปตท.นำร่องขายซึ่งรัฐได้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนราคาต่ำกว่าดีเซลเกรดปกติ (บี 7) 1 บาทต่อลิตร และกำหนดเป้าในปี 2564 จะเป็นดันบี 10 เป็นน้ำมันมาตรฐานหลักของประเทศแทนบี 7 ขณะเดียวกันยังส่งเสริมบี 20 ควบคู่กันไปให้กับกลุ่มรถบรรทุกขนาดใหญ่ตามจุดจอด (Fleet) โดยมีราคาจำหน่ายต่ำกว่าดีเซลเกรดปกติ 5 บาทต่อลิตรซึ่งจะสิ้นสุดเดือน ก.ค. ก็ต้องมาลุ้นว่าราคานี้จะยืนต่อไปหรือไม่

แต่มาตรการที่น่าจับตามอง คือ การดูดซับของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการนำไปเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกงซึ่งแบ่งเป็น 2 ช่วงโดยช่วงแรกได้รับซื้อ 1.6 แสนตัน ซึ่งได้ทยอยส่งมอบครบเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2562 ต่อมาคณะกรรมการกำกับนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ได้มอบหมายให้ประมูลรับซื้อเพิ่มอีก 2 แสนตัน ซึ่ง กฟผ.ได้เริ่มประมูลรับซื้อ 1 แสนตันก่อน แต่เมื่อมีการเปิดให้โรงสกัดยื่นเสนอขาย 2 รอบก็ยังไม่ครบจำนวนที่วางไว้ทำให้เหลืออีกราว 1.3 แสนตันที่จะรอดูดซับช่วงราคาตกต่ำในครั้งต่อไป

อย่างไรก็ตาม นโยบายภาพรวมเกี่ยวกับการดูดซับ CPO ที่ผ่านมาถูกมองว่ายิ่งดูดซับกลับทำให้ราคาผลปาล์มทะลายไม่ได้ขยับขึ้นสอดรับกันนัก แถมมีกระแสการโจมตีว่ามีไอ้โม่งที่กินส่วนต่างราคารับซื้อกลายเป็นกระบวนการสวาปาล์ม ….จึงเป็นเรื่องด่วนที่ รมว.พลังงานคนใหม่ต้องมาบูรณาการร่วมกันทุกฝ่ายซึ่งก็เชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้จะต้องเร่งสร้างผลงานเพื่อเรียกศรัทธาคืนมาจากเกษตรกร แต่หากรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงอยู่คนละก๊วนและอยากโชว์เดี่ยวก็คงไม่ดีต่อภาพรวมเป็นแน่

ราคาพลังงานกับตลาดโลก ความผันผวนทางด้านราคาพลังงานของโลกขณะนี้เริ่มมีถี่ขึ้นด้วยสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างหสรัฐอเมริกา และตะวันออกกลาง โดยเฉพาะล่าสุดกับอิหร่านที่มาเป็นระยะ แต่ละครั้งทำให้ราคาน้ำมันดีดขึ้นพรวดพราด กระทรวงพลังงานที่มีหน้าที่ทั้งการจัดหาและดูแลราคาย่อมต้องหามาตรการรับมือไว้ โดยเฉพาะราคานั้นจะอ่อนไหวเสมอสำหรับคนไทยและฝ่ายการเมืองไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมัน แอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) โดยอดีตที่ผ่านมากระทรวงพลังงานจะใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เก็บเงินสะสมจากผู้ใช้น้ำมันเป็นหลักเข้ามาดูแลเป็นสำคัญหากจำกันได้ยุค"ทักษิณ"นี่ถึงขั้นต้องไปกู้มาอุ้มกว่า 9 หมื่นล้านบาท

วันนี้หากมาดูเม็ดเงินกองทุนน้ำมันฯ สะสมไว้ 3.5 หมื่นล้านบาทแต่กองทุนฯ เองก็มีรูปแบบบริหารที่เปลี่ยนไปเพราะมี พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ที่มีกฎกติกากำหนดไว้อย่างละเอียดถึงเม็ดเงินที่จะเก็บจากผู้ใช้น้ำมันมาสะสมไว้ดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันยามวิกฤตที่ไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท โดยจะมีผลทางปฏิบัติ 24 ก.ย.นี้ ดังนั้น การควักเงินและการก่อหนี้จึงไม่ง่ายเช่นอดีต หากราคาน้ำมันโลกไม่หวือหวาอะไรก็คงรับมือได้อยู่ แต่สิ่งแรกที่ใกล้งวด คือ ราคาแอลพีจีที่กำหนดตรึงไว้ 363 บาทต่อถัง 15 กก.นั้น กบง.ได้กำหนดวงเงินอุดหนุนไว้ติดลบไม่เกิน 7,000 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น