xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ชิงความได้เปรียบการลงทุน ปักหมุด EEC สู่โครงสร้างพื้นฐาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การขับเคลื่อนการลงทุนของกลุ่ม ปตท.ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาสอดรับแผนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ว่าด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรืออีสต์เทิร์นซีบอร์ดที่ดำเนินการมากว่า 30 ปี เพื่อมุ่งหวังยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้สามารถแข่งขันในเวทีโลก และเศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน ก้าวพ้นกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางเสียที หลังจากที่ประเทศไม่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่มานานหลายสิบปี

ในฐานะรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนรายใหญ่ของประเทศ บมจ.ปตท. ได้อัดงบลงทุนในช่วง 5 ปีนี้ (2562-2566) รวม 167,114 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนตามแผนงานที่วางไว้ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติถึง 45% ของงบลงทุน มีทั้งการลงทุนสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Terminal) ขนาด 7.5 ล้านตันต่อปี โครงการท่อก๊าซฯ เส้นที่ 5 เป็นต้น โดยปีนี้บริษัทใส่งบลงทุนถึง 7 หมื่นล้านบาท และยังกันงบพิเศษเพื่อการลงทุนในอนาคต (Provision)187,616 ล้านบาท ซึ่งวางแผนไว้ลงทุนธุรกิจ New S-Curve รวมทั้งโครงการการลงทุนที่ไม่อยู่ในแผนงาน พร้อมทั้งสั่งให้บริษัทลูกมองหาโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรมที่รัฐให้การส่งเสริมในพื้นที่อีอีซียื่นเสนอมาให้คณะกรรมการบริษัทฯอนุมัติโดยด่วน เนื่องจากกลุ่ม ปตท.มีฐานธุรกิจหลักอยู่ในภาคตะวันออก โดยเฉพาะมาบตาพุด จ.ระยอง ที่เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สอง

จากนโยบายส่งเสริมการลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่ระยะแรกกำหนด 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เป็นโอกาสดีที่ ปตท.จะเร่งขยายการลงทุนเพิ่มเติมต่อยอดในธุรกิจปัจจุบันที่ดำเนินการอยู่ รวมทั้งหาธุรกิจใหม่ (New S-Curve) เพื่อสร้างการเติบโตให้กลุ่มบริษัทอย่างยั่งยืนในอนาคต ส่วนแหล่งเงินทุนไม่ใช่ปัญหา เฉพาะ ปตท.ก็มีเงินตุนอยู่ในกระเป๋าถึงแสนล้านบาท ไม่รวมบริษัทลูกๆ ขอแค่เป็นโปรเจกต์ดี ผลตอบแทนเหมาะสม และมีพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ ทางกลุ่ม ปตท.ก็พร้อมที่จะลงทุนได้ทันที

ขณะที่ภาครัฐก็ส่งสัญญาณให้ ปตท.เข้ามามีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ลงทุน หวังเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนของไทยและต่างชาติเข้ามา ทำให้กลุ่ม ปตท.เป็นบริษัทไทยรายอันดับต้นๆ ที่ประกาศตัวลงทุนในอีอีซีด้วยวงเงินกว่า 3 แสนล้านบาท และทยอยลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม

นับตั้งแต่การพัฒนาพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจ (EECi) บนพื้นที่ 3,500 ไร่ โดย ปตท.มีการก่อตั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ที่สนับสนุนการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เพื่อให้เกิดนวัตกรรม โดยคณะกรรมการบริษัท ปตท.ได้อนุมัติการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน EECi ระยะแรกวงเงิน 2,500 ล้านบาท ซึ่งจะการก่อสร้างอาคาร สาธารณูปโภคถนน ไฟฟ้า ฯลฯ พัฒนาให้ EECi เป็นเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) รองรับการเป็นศูนย์กลางงานวิจัยด้านเทคโนโลยี วัสดุ พลังงานทดแทน และดิจิทัล มีการทำโรดโชว์เพื่อดึงสถาบันชั้นนำในต่างประเทศเพื่อเข้ามาใช้พื้นที่ EECi ในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ด้วย




โดยบริษัทในกลุ่ม ปตท. ร่วมกับ VISTEC วิจัยและพัฒนาธุรกิจใหม่ (New S-Curve) อาทิ มีการวิจัยระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Energy Storage System) หรือแบตเตอรี่ที่คาดว่าจะเริ่มเปิดตัวในเร็วๆ นี้ ล่าสุดทาง บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ก็เตรียมย้ายศูนย์วิจัยและพัฒนาที่วังน้อยมาอยู่ที่ EECi โดยนำส่วนงานวิจัยและพัฒนาด้านหุ่นยนต์ เครื่องจักรกล และปัญญาประดิษฐ์ (Robotics/AI) มาไว้ที่นี่ ล่าสุดเตรียมควักเงิน 100 ล้านบาทในการเข้าร่วมทุนบริษัท นาโนสเปซ จากเป้าหมายครึ่งปีหลังนี้จะควักเงิน 1 พันล้านบาทลงทุนในกองทุนร่วมลงทุน (VC) ที่เน้นลงทุนธุรกิจstartupที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจที่ ปตท.ทำอยู่ไม่ว่าจะเป็นการบริหารพลังงาน รวมไปถึงเฮลท์แคร์

*****คว้าประมูล 2 โครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3-แหลมฉบัง เฟส 3

นอกเหนือจากการแสวงหาโอกาสในธุรกิจ New S-Curve และการวิจัยพัฒนานวัตกรรมใหม่แล้ว ปตท.ยังสยายปีกการลงทุนสู่โครงสร้างพื้นฐานที่ภาครัฐได้เปิดประมูลหลายโครงการภายใต้แผนอีอีซี ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 (ช่วงที่ 1) มูลค่าโครงการ 5.54 หมื่นล้านบาท โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) วงเงินลงทุน 8.4 หมื่นล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการนี้ บริษัท พีทีที แทงค์เทอร์มินอล ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท.ได้ร่วมทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเข้าประมูล คือ บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ (GULF) ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจไฟฟ้ารายใหญ่อันดับต้นๆ ของไทยและยังเป็นลูกค้ารายสำคัญที่ทำสัญญาซื้อก๊าซฯ ป้อนโรงไฟฟ้าด้วย

การกระโดดเข้าประมูลโครงการท่อเรื่องอุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) ของ ปตท.ในครั้งนี้ไม่น่าแปลกใจ เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาท่าเรือ ทั้งท่าเรือบริการ ท่อเรือก๊าซฯ รองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ได้ 10 ล้านตันต่อปีและสินค้าเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยให้บริการรูปแบบท่าเรือสาธารณะเนื่องจากการใช้งานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดปัจจุบันเต็มศักยภาพรองรับแล้ว ซึ่งเป็นธุรกิจที่ ปตท.มีความเชี่ยวชาญและดำเนินการอยู่ในการนำเข้าแอลเอ็นจีเพียงรายเดียวในขณะนี้ จึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมประมูลโดยมีพันธมิตรภายใต้กิจการร่วมค้ากัลฟ์และพีทีทีแทงค์ที่ยื่นเสนอการพัฒนาเข้ามาเพียงรายเดียว ขณะที่เอกชนส่วนใหญ่ไม่กล้ายื่นประมูลส่วนหนึ่งมองว่าผลตอบแทนต่ำ สถานการณ์พลังงานที่ไม่มีอะไรแน่นอนจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและยังมีภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอนด้วย ซึ่งเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงอาจกระทบต่อปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่ลดลงได้

ทำให้โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 (ช่วงที่ 1) มีความก้าวหน้าไปมากเมื่อเทียบการประมูลโครงการอื่นๆ ในอีอีซี คาดว่าจะลงนามสัญญากิจการร่วมค้ากัลฟ์และพีทีทีแทงค์กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ทันรัฐบาลนี้ โดยทางพีทีที แทงค์ เทอร์มินอล ถือหุ้นในโครงการ 30% ซึ่งล่าสุด ทางคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2562 เห็นชอบปรับปรุงหลักการของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอ โดยปรับปรุงจำนวนเงินร่วมลงทุนของรัฐตามที่ กนอ.ได้เจรจาเพิ่มเติมกับภาคเอกชนผู้ชนะการประมูลในโครงการ โดยอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ของ กนอ.อยู่ที่ 9.2%
และผลตอบแทนของภาคเอกชนที่ชนะการประมูลหลังการต่อรองลดลงจากเดิม 14,371 ล้านบาท เป็น 14,298 ล้านบาท คิดเป็น FIRR 10.73%

ส่วนโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) ที่ร่วมประมูลในนาม กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล, กัลฟ์ เอ็นเนอร์จีฯ และบริษัท China Harbour Engineering Commpany Limited อาจจะล่าช้าออกไป เนื่องจากติดปัญหาว่ากลุ่มกิจการร่วมค้า NCP ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติจากการยื่นเอกสารไม่ครบจนถูกตัดสิทธิ์ไปนั้นได้ร้องศาลปกครอง ทำให้การเปิดซองที่ 4 ข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทนที่กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC เสนอมาต้องหยุดชะงัก ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการเจรจาได้

*******ส่อแววไม่ร่วมโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. ก็เริ่มส่งสัญญาณว่า ปตท.อาจจะไม่เข้าร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว เนื่องจากไม่มีความเชี่ยวชาญรถไฟฟ้า แต่เชี่ยวชาญเรื่องพลังงานและบริหารจัดการพื้นที่ รวมทั้งต้องกันเงินไปใช้ในโครงการอื่นๆ ที่น่าลงทุนมากกว่า หากจะให้ ปตท.ร่วมทุน ทางกลุ่มกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ผู้ชนะประมูลคงต้องส่งเทียบเชิญเข้ามา ซึ่งก่อนหน้านี้ ปตท.เคยให้เหตุผลการไม่เข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินว่าจะพิจารณาเข้าไปร่วมลงทุนกับกลุ่มผู้ชนะประมูลโครงการในภายหลัง

การตัดสินใจของ ปตท.ที่เบนเข็มการลงทุนมาสู่ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานใน EEC เป็นสิ่งที่มาถูกทาง แม้ว่าธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานจะมีอัตราผลตอบแทนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ ที่ ปตท.ดำเนินการอยู่ก็ตาม แต่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะ ปตท.ได้รับแรงกดดันจากแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงานของไทยที่มุ่งหวังให้เกิดการแข่งขันในกิจการไฟฟ้า ทั้งด้านประสิทธิภาพและต้นทุนเชื้อเพลิง เพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด โดยก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักต้องเปิดเสรีให้มีการแข่งขันมากขึ้น โดยเริ่มให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดหาและนำเข้าแอลเอ็นจีไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี โดย กฟผ.ได้ดำเนินการเปิดประมูลหาผู้ชนะประมูลได้แล้วแต่ยังไม่ได้ลงนามสัญญา ต้องรอความชัดเจนผลกระทบการนำเข้าแอลเอ็นจีล็อตนี้ต่อปริมาณการนำเข้าแอลเอ็นจีเดิมของประเทศด้วย รวมทั้งการให้บุคคลที่สามใช้หรือเชื่อมต่อระบบท่อก๊าซฯ ได้ ปตท.ได้ (TPA) เรียกได้ว่าธุรกิจที่ ปตท.เคยเป็นเสือนอนกินเริ่มถูกลิดรอนหมดไป

******PTTGC เสือปืนไว ดึงร่วมทุนญี่ปุ่นตั้ง รง.ใน EEC

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) ซึ่งเป็นบริษัท Flagship ธุรกิจปิโตรเคมี กล่าวย้ำว่า PTTGC จะลงทุนกว่าแสนล้านบาทสนองนโยบายรัฐในการผลักดันอีอีซี ไม่ว่าเป็นการตั้งโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต Olefins Reconfiguration (ROP) มูลค่าการลงทุน 3.6 หมื่นล้านบาท ที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยนำแนฟทาที่ผลิตได้จากโรงกลั่นจากเดิมที่เคยขายให้เครือซิเมนต์ไทยหรือส่งออก นำมาต่อยอดผลิตเป็นผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ เพื่อเป็นวัตถุดิบปิโตรเคมีขั้นปลายน้ำต่อไป โครงการโพรพิลีนออกไซด์และโพลีออลส์ (PO/Polyols) มูลค่าโครงการ 3.4 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตโพลียูรีเทนป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ ก่อสร้างและเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยโครงการเหล่านี้ได้ดำเนินการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 50% ผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2563

PTTGC ยังเดินหน้าร่วมทุนกับนักลงทุนญี่ปุ่นอย่างบริษัท คุราเร่ จีซี แอดวานซ์ แมททีเรียลส์ ที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์พลาสติกวิศวกรรมชั้นสูง ได้แก่ PA9Tและ HSBC ตั้งโรงงานในระยอง และเล็งร่วมทุนโครงการอื่นๆ ตามเช่นกัน ไม่เว้นแต่การตั้งโรงงานรีไซเคิลพลาสติก มูลค่าการลงทุน 2 พันล้านบาท

ส่วนบริษัทลูก คือ บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) ก็จับมือกับกลุ่ม เกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) ผุดโครงการนครสวรรค์ ไบโอคอมเพล็กซ์ มูลค่าการลงทุนรวม 1-3 หมื่นล้านบาท เพื่อลงทุนสร้างมูลค่าเพิ่มจากพืชผลการเกษตร เช่น อ้อย ไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพในอนาคตซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ภาครัฐสนับสนุน

****TOP ลุยขยายโรงกลั่นเพิ่มเป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน

ขณะที่ บมจ.ไทยออยล์ ก็ประกาศการลงทุนโครงการพลังงานสะอาด (CFP) มูลค่าการลงทุน 1.28 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันจากเดิม 2.75 แสนบาร์เรล/วัน เป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน และลดปริมาณน้ำมันเตาที่ได้จากการกลั่นลงมา นำไปผลิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยานเพิ่มมากขึ้นเพื่อเลี่ยงผลกระทบจากเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งโครงการนี้จะทำให้โรงกลั่นไทยออยล์มีความทันสมัยและต้นทุนต่ำแม้ว่าจะเป็นโรงกลั่นที่เปิดดำเนินมานานร่วม 40-50 ปีก็ตาม และไทยออยล์ยังมีการลงทุนขยายคลังเก็บผลิตภัณฑ์ต่างๆเพื่อรองรับการขยายกำลังการกลั่นน้ำมัน ด้วยวงเงิน 2.3 พันล้านบาทโดยโครงการเหล่านี้จะทยอยแล้วเสร็จในปี 2563-66

ด้าน บมจ.ไออาร์พีซี ก็มีการขยายการลงทุนโครงการ Ultra Clean Fuel เตรียมพร้อมรองรับการประกาศใช้น้ำมันดีเซลมาตรฐาน Euro V ใช้เงินลงทุนราว 8 พันล้านบาท ขณะที่โครงการMaximum Aromatics (MARS) มูลค่า 4.1 หมื่นล้านบาท ทางบริษัทก็ถอยการลงทุน กลับมาศึกษาใหม่หลังแนวโน้มธุรกิจอะโรเมติกส์จะอยู่ในช่วงขาลงเมื่อโครงการแล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ในปี 2566 ทำให้ต้องพิจารณารอบคอบเพราะเม็ดเงินลงทุนสูง

จากการขยายการลงทุนโครงการต่างๆ ข้างต้นนี้เองทำให้ความจำเป็นต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่อีอีซีเพิ่มขึ้นมากในอนาคต จึงเป็นโอกาสของ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (GPSC) ที่เข้ามาลงทุนโรงไฟฟ้าป้อนโรงงานใหม่รวมทั้งส่วนขยายโรงงานเดิม โดยล่าสุดทาง GPSC ได้ปิดดีลการเข้าซื้อกิจการบริษัท โกลว์พลังงาน จำกัด (มหาชน) (GLOW) สัดส่วนหุ้น 69.11% วงเงิน 9.3 หมื่นล้านบาทจากกลุ่ม Engie และทุ่มอีก 4 หมื่นล้านเพื่อซื้อหุ้นคืนจากรายย่อย ดันให้ GPSC เป็นผู้เล่นธุรกิจไฟฟ้ารายใหญ่ที่มีกำลังผลิตสูง 4.7 พันเมกะวัตต์ ซึ่งโรงไฟฟ้าโกลว์มีฐานลูกค้าโรงงานในพื้นที่มาบตาพุด นับเป็นการปิดจุดอ่อนของ GPSC ที่ส่วนใหญ่มีบริษัทในเครือ ปตท.เป็นลูกค้าสำคัญ ทำให้เป็นบริษัทที่สร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าให้พื้นที่อีอีซี รวมทั้งคว้าการลงทุนหน่วยผลิตไฟฟ้า กำลังผลิต 250 เมกะวัตต์ ป้อนไฟฟ้าและไอน้ำให้โครงการ CFP ของไทยออยล์ด้วย

นับเป็นการผนึกพลังของกลุ่ม ปตท.ครั้งใหญ่ เพื่อผลักดันให้โครงการอีอีซีของรัฐบาลบิ๊กตู่ 2 เริ่มเห็นการลงทุนที่ชัดเจน งานนี้หากนักลงทุนมัวแต่รีรอ อาจพลาดท่าตกขบวน ไม่รู้ว่าจะต้องรออีกเมื่อไหร่





กำลังโหลดความคิดเห็น