xs
xsm
sm
md
lg

ไทยถกอียูเห็นพ้องกู้วิกฤต WTO เร่งปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาท รับมือกีดกันการค้าโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ไทยถกสหภาพยุโรปเห็นพ้องกู้วิกฤตกลไกระงับข้อพิพาท WTO รับมือการกีดกันการค้าโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น เผยยังได้แลกเปลี่ยนการเจรจาเอฟทีเอ อียูแจ้งกำลังรอนโยบายจากรัฐสภาใหม่ เช่นเดียวกับไทยที่รอรัฐบาลใหม่ พร้อมแจ้งความคืบหน้าการอำนวยความสะดวกทางการค้า ดึงอียูลงทุนใน EEC

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการเข้าร่วมการประชุมคณะทำงานด้านการค้าและการลงทุนไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ครั้งที่ 14 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2562 ที่ผ่านมา ว่า ในการประชุมครั้งนี้ไทยและอียูได้แลกเปลี่ยนความเห็นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีการนำมาตรการกีดกันทางการค้าฝ่ายเดียวมาใช้เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้เกิดการตอบโต้ทางการค้าที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อระบบการค้าพหุภาคีขององค์การการค้าโลก (WTO) ไทยและอียูจึงควรร่วมมือกันปฏิรูปการทำงานของ WTO เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นในระบบการค้าพหุภาคี

ทั้งนี้ ไทยและอียูเห็นว่าประเด็นเร่งด่วนที่จะต้องเร่งผลักดัน คือ การเลือกสมาชิกองค์กรอุทธรณ์แทน 6 ใน 7 ตำแหน่งที่จะว่างลงในปลายปีนี้ ก่อนที่กระบวนการระงับข้อพิพาททางการค้า ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของ WTO จะหยุดชะงักลง รวมถึงการปรับปรุงกลไกการระงับข้อพิพาท และการผลักดันให้การเจรจาในเรื่องที่ค้างอยู่มีความคืบหน้าและหาข้อสรุปได้ตามมติที่ประชุมรัฐมนตรี WTO เช่น การจัดทำความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การจัดทำความตกลงการอุดหนุนประมง เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ได้แลกเปลี่ยนความคืบหน้าเรื่องการเจรจาเอฟทีเอที่แต่ละฝ่ายจัดทำกับประเทศอื่น และความคืบหน้าการเจรจาเบร็กซิตกับสหราชอาณาจักร ซึ่งในส่วนของการเจรจาเอฟทีเอกับไทย อียูแจ้งว่าจะต้องรอนโยบายของรัฐสภาชุดใหม่ ส่วนไทยเองก็ต้องรอนโยบายจากรัฐบาลชุดใหม่เช่นเดียวกัน

นางอรมนกล่าวว่า ไทยได้ใช้โอกาสนี้แจ้งให้อียูทราบถึงความคืบหน้าของไทย เกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไข รวมถึงการออกกฎหมายและกฎระเบียบทางการค้า เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าของผู้ประกอบการ เช่น การปรับปรุงกฎหมายแข่งขันทางการค้า กฎหมายศุลกากร กฎหมายดิจิทัล และกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้การจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันของไทยในปีนี้ดีขึ้นจากปีก่อนถึง 5 อันดับ

พร้อมกันนี้ ได้แจ้งให้อียูทราบถึงนโยบายการส่งเสริมการลงทุนในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่ให้ความสำคัญต่อการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมใหม่ 12 สาขา โดยเน้นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเชิญชวนให้อียูเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งฝ่ายอียูเห็นว่าข้อมูลความคืบหน้าด้านนโยบายและการปรับปรุงกฎระเบียบทางการค้าของไทยเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และทั้งสองฝ่ายยังได้หารือแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น