ทำไม? ประมูลแหลมฉบังเฟส 3มูลค่า 84,000ล้านถึงยังปิดไม่ลง หลัง “กลุ่ม นทลิน” ไม่ได้ไปต่อ เพราะ“เอกสารไม่ครบ” เบื้องลึกของเอกสารแค่เรื่องเล็กน้อยจริงหรือ? ที่ว่าไม่ครบคืออะไร มีนัยสำคัญอย่างไร และ ปมเงินที่คนแพ้เสนอให้การท่าเรือมากกว่าคนผ่าน 15,000 ล้านจริงหรือ?
การท่าเรือแห่งประเทศไทย เปิดประมูลโครงการท่าเทียบเรือแหลมฉบับเฟส 3 (ระยะที่1) วงเงิน 84,361 ล้านบาท ซึ่งเป็น 1 ใน 5 โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม หัวใจสำคัญ ในการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)
จากที่มีกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่จากหลายประเทศให้ความสนใจมากกว่า 35 รายที่ซื้อซองไปแต่ มีเพียงสองกลุ่มที่ยื่นข้อเสนอเข้าชิงดำกัน คือ
1.กลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี (GPC) ซึ่ง บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บจ.พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล (ปตท.) และ บจ.ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จากประเทศจีน
และ 2.กลุ่มกิจการร่วมค้า เอ็นพีซี (NCP)ประกอบด้วย บริษัท นทลิน จำกัด, บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด, บริษัท พีเอชเอส ออแกนิค ฮีลลิ่ง จำกัด, บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด
ผลการพิจารณาปรากฎว่า คณะกรรมการพิจารณาได้ตัดสิทธิ์ กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี เพราะ ยื่นเอกสารเข้ามาไม่ครบตามมาตรฐานที่กำหนดทำให้ไม่ผ่านคุณสมบัติถูกตัดตกไปโดยกติกา
ทว่า คณะกรรมการพิจารณายังไม่สามารถประกาศผลผู้ชนะได้ เพราะ กลุ่มNCPที่มีนทลินที่ถูกตัดสิทธิ์ไม่ยอมรับจึงได้ยื่นร้องต่อศาลปกครองกลาง และ ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาได้ตั้งคณะกรรมการฯอีกชุดขึ้นมาพิจารณาข้อเรียกร้องของกลุ่มนี้ที่ไม่เห็นด้วยกับผลการประมูลดังกล่าว
สถาณการณ์ของการประมูลขณะนี้จึงรอ “ผลชี้ขาด” เพื่อการพิจารณาที่โปร่งใส
บนสถานการณ์ที่ยังรอกันอยู่เช่นนี้ กลุ่มของปตท.ที่ร่วมกับพันธมิตรอย่างกัลฟ์ยังเชื่อมั่นว่า จะไม่เป็นอุปสรรค เห็นได้จากกระบวนการของภาครัฐไม่ได้หยุดชะงัก เพราะ แม้จะเหลือเอกชนกลุ่มเดียวในการประมูล คณะกรรมการสามารถดำเนินการเดินหน้าเจรจาต่อรองได้ ซึ่งล่าสุดได้พิจารณาซองที่ 4 ข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทน เสร็จเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ กระบวนการพิจารณาของกรรมการจะเริ่มทีละซองจากเอกสารข้อเสนอทั้งหมดจำนวน 5 ซอง ตั้งแต่ ซองที่1(ไม่ปิดผนีก)เอกสารหลักฐาน ,ซองที่ 2 ว่าด้วย คุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ ซองที่ 3 (ปิดผนึก) ข้อเสนอทางเทคนิค ,ซองที่ 4 (ปิดผนึก) ข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอนแทน และซองที่ 5 (ปิดผนึก) ต่อไปได้
ผู้ชนะจะได้รับการพิจารณาไปทีละซองจนครบ กรณีที่ซองที่ 2 ไม่ผ่าน ก็ไม่สามารถทำการเปิดซองที่ 3 (ปิดผนึก) ข้อเสนอทางเทคนิค และซองที่ 4 (ปิดผนึก) ข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอนแทน และซองที่ 5 (ปิดผนึก) ต่อไปได้
ขณะที่กลุ่มนทลินเคลื่อนไหวขอความเป็นธรรมต่อไป
***เรื่องนี้ต้องขยาย “ปมส่งเอกสารไม่ครบ” เล็กน้อยจริงหรือ
เรื่องนี้มีคนพูดกันด้วยความสงสัย หากจะพูดถึงความเป็นธรรมว่าทำไม “เอกสารไม่ครบ” เป็นข้อหาฉกรรจ์ทำให้สอบตกกระนั้นหรือ?
กลุ่มนทลินเองซึ่งได้คัดค้านการตัดสิทธิ์ผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินระบุว่า “ข้อผิดพลาดของกลุ่มบริษัท NPC เป็นข้อผิดเล็กน้อยที่ไม่ทําให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ไม่ใช่สาระสําคัญ และมิได้มีกฎหมายกําหนดให้ต้องกระทําตามแบบที่กฎหมายกําหนดไว้”
จริงๆแล้วต้องมาว่ากันโดยพื้นฐานก่อน สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F คณะกรรมการนโยบายมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการฯ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2561 และ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการและอนุมัติวงเงินเพื่อดำเนินตามแผนงานโครงการฯ ไปเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561
การท่าเรือแห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการ และคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการ EEC Project List (โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3) ซึ่งถูกแต่งตั้งโดยคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกประกอบด้วยหน่วยงานราชการหลายภาคส่วน
กรรมการมีอำนาจหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบ ตั้งแต่ร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารคัดเลือกเอกชน และ ร่างสัญญาร่วมลงทุน คัดเลือกเอกชน เจรจา และ จัดทำร่างสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชน ที่ได้รับคัดเลือก ขอให้หน่วยงานเจ้าของโครงการหรือเอกชนเข้าชี้แจงหรือจัดส่งข้อมูลหรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง พิจารณาดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการตามที่เห็นสมควรได้ประชุมและพิจารณาประกาศเชิญชวน เอกสารการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน เรียบร้อย
ต่อมาได้เปิดขายเอกสารการคัดเลือกเอกชนไปเมื่อวันที่ 28 มกราคม – 8 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมาซึ่งปรากฏว่า มีเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศเข้าซื้อเอกสารการคัดเลือกเอกชนของโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้น 35 ราย และได้กำหนดให้มีการรับซองข้อเสนอเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 เวลา 09.00 น. – 12.00 น. โดยมีกลุ่มบริษัทเข้ายื่นข้อเสนอ จำนวน 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี และ กลุ่มกิจการร่วมค้า เอ็นซีพี ดังกล่าว
คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการประชุมและพิจารณาเอกสารของ ผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 กลุ่ม โดยในการประชุมพิจารณาแต่ละครั้งได้มีผู้แทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วยทุกครั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ประชุมพิจารณาซองที่ 1 (ซองไม่ปิดผนึก) ซองเอกสารหลักฐานไปเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา
ปรากฏว่า ผ่านหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดทั้ง 2 กลุ่ม และ ได้พิจารณา “ซองที่ 2” (ซองปิดผนึก) ซองคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ ได้แก่ คุณสมบัติของนักลงทุน คุณสมบัติของทางการเงิน ประสบการณ์ของผู้ยื่นข้อเสนอ ซึ่งผลการพิจารณาปรากฏว่า กลุ่มกิจการร่วมค้า เอ็นซีพี ยื่นเอกสารในส่วน “สัญญากิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ของกลุ่มฯ ลงนามไม่ครบถ้วน” และ ไม่ถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารคัดเลือกเอกชนของโครงการฯ
นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ กลุ่มนทลิน ไม่ได้ไปต่อ!
ตามระเบียบ ตราไว้ชัดเจนว่า บริษัทที่มาร่วมกันเป็น กิจการร่วมค้าต้องลงลายมือชื่อร่วมกัน “ สมาชิกแต่ละรายต้องให้ผู้มีอำนาจลงนามลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท เพื่อยืนยันความถูกต้องของเอกสารข้อเสนอด้านคุณสมบัติของตน และอีกทั้งสมาชิกทุกราย ต้องให้ ผู้มีอำนาจลงนามลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท เพื่อยืนยันว่าเอกสารฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของเอกสารข้อเสนอ”
จุดนี้ถือเป็นสาระสำคัญ ซึ่งจะเป็นเอกสารแสดงให้เห็นว่าสมาชิกของกิจการร่วมค้าจะร่วมกันและแทนกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ในการดำเนินการตามสัญญาร่วมลงทุน
กลุ่มNCP จึงเป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 ซองคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ และไม่สามารถทำการเปิดซองที่ 3 (ปิดผนึก) ข้อเสนอทางเทคนิค และซองที่ 4 (ปิดผนึก) ข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอนแทน และซองที่ 5 (ปิดผนึก) ต่อไปได้
หากดูตามนี้ก็ไม่ได้เล็กน้อย หนึ่งนั้น เพราะการจะร่วมมือกันทำกิจการค้า หากไม่ลงนามก็ไม่มีหลักประกันที่ทำให้การท่าเรือมั่นใจว่า กลุ่มบริษัทที่มีชื่อในกลุ่มจะร่วมกันจริง
สองจากการสืบค้นพบว่า บางบริษัทที่เข้าชื่อร่วมกลุ่มกับทาง นทลิน นั้น มีทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท และ ประกอบธุรกิจทำวิทยุชุมชนมาก่อน ซึ่งทำให้คณะกรรมการพิจารณาไม่เชื่อมั่นว่าจะมีคุณสมบัติที่จะรับงานใหญ่ได้ หรือ อาจจะเป็นนอมินีของต่างประเทศ
** ข้อสงสัย อินไซต์ เรื่องผลตอบแทนที่แตกต่าง
นอกจากประเด็นเรื่องเอกสารที่เป็นปมข้อสงสัยกันแล้ว มาถึงผลประโยชน์ตอบแทนที่มีข่าวแพร่สะพัดว่า ระหว่างสองกลุ่ม เสนอผลตอบแทนเสนอให้ กทท. ตลอดอายุสัมปทาน 35 ปี มีผลตอบแทนที่ต่างกันอย่างมหาศาลเป็นเงินถึง 15,000 ล้านบาท!!
เมื่อกลุ่มชิงดำ ปตท.และกัลฟ์ ไปต่อ และ กลุ่มนทลินที่ไม่ผ่าน มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า กลุ่มบริษัทร่วมค้า NCP รายที่โดนตัดสิทธิ์ เสนอค่าตอบแทนให้การท่าเรือฯ เป็นค่าสัมปทานคงที่ จํานวน 27,000 ล้านบาท
ส่วนกลุ่มบริษัทร่วมค้า GPC รายที่ได้รับการคัดเลือก เสนอค่าตอบแทนให้การท่าเรือฯ เป็นค่า สัมปทานคงที่ จํานวน 12,000 ล้านบาท
จากกรณีนี้หากคณะกรรมการคัดเลือกฯ ตัดสิทธิ์กลุ่มบริษัทร่วมค้า NCP ที่เสนอค่าสัมปทานคงที่ 27,000 ล้านบาท และ ไม่สามารถเจรจากับกลุ่มบริษัทร่วมค้า GPC เสนอค่าสัมปทานคงที่ 12,000 ล้านบาท ให้ได้ผลประโยชน์เท่ากับกลุ่มบริษัทร่วมค้า NCP เสนอไว้ดังกล่าวจะทําให้ กทท. “เสียผลประโยชน์เป็นเงิน 15,000 ล้านบาท”
จํานวนเงินดังกล่าว ที่เสียไปนั้น มีผลเกี่ยวเนื่องอันส่งผลกระทบกับองค์กรและพนักงานโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นรายรับที่ กทท. ต้องเสียไป และ ผลตอบแทนของพนักงานในเรื่องการปรับเพิ่มเงินเดือนและโบนัสของพนักงานในแต่ละปี หรือไม่อย่างไร?
ประเด็นนี้ ในความเป็นจริง ต้องย้อนมาดูกติกาว่า เมื่อใครที่ผ่านซองที่ 2 แล้วค่อยไปว่ากันที่ซองที่ 3-4และ 5 ต่อไป
ในกรณีนี้ กิจการร่วมค้า จีพีซี เป็น ผู้ผ่านการประเมินซองที่ 2 จึงได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปโดยพิจารณาซองที่ 3 ซึ่งได้ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด และได้เปิดซองที่ 4 ขณะนี้เพิ่งผ่านไปแล้วเสร็จ และ พิจารณาข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอนแทนของกลุ่มกิจการร่วมค้า จีพีซี
สำหรับประเด็นผลตอบแทนทางการเงินที่ว่าแตกต่างกันมาก คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เปิดซองข้อเสนอทางการเงินเฉพาะกลุ่มที่ผ่านการพิจารณาซองที่ 2 เท่านั้นหรือของกลุ่ม ปตท.และกัลฟ์เท่านั้น
ดังนั้นจะไม่มีผู้ใดสามารถที่จะทราบได้ว่า กลุ่มนทลินที่เป็นผู้ที่ไม่ผ่านการพิจารณาซองที่ 2 ยื่นข้อเสนอทางด้านเทคนิค ข้อเสนอทางด้านการเงิน และข้อเสนอการเพิ่มประสิทธิภาพ เป็นอย่างไร
การที่มีเรื่องสะพัดว่า ผลตอบแทนระหว่างสองกลุ่มแตกต่างกันมากถึง 15,000 ล้านโดยผู้ไม่ผ่านเสนอทางการเงินด้วยจำนวนเงินที่สูงกว่าผู้ผ่านนั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯ ย่อมไม่สามารถนำมาพิจารณาได้ และ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ หน่วยงาน
พูดง่ายๆว่า ตัวเลขที่ปล่อยออกมา ไม่ใช่ของจริง เพราะไม่มีใครรู้แม้แต่คณะกรรมการ ฯ จึงน่าสนใจว่า เมื่อสุดทางแล้วมีการประกาศเอกชนผู้ผ่านร่วมทุนกับการท่าเรือในโครงการแหลมฉบังเฟส3 นี้จะเป็นอย่างไร
พะยี่ห้อ ปตท.และ กัลฟ์ ย่อมไม่ธรรมดา.