xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เชื่อม e-Form D กับบรูไนสำเร็จอีกชาติ คาดช่วยดันส่งออกไทยพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมการค้าต่างประเทศเชื่อม e-Form D กับบรูไนสำเร็จอีกประเทศ หลังทำแล้วกับอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม มั่นใจช่วยสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทยเหนือประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้สิทธิลดภาษี ทำให้สินค้าไทยเจาะเข้าสู่ตลาดบรูไนได้เพิ่มขึ้น

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการเชื่อมโยงข้อมูลหนังสือรับรองทางอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า e-Form D ว่า ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 62 เป็นต้นไปกรมฯ ได้ดำเนินการขยายขอบเขตการเชื่อมโยง e-Form D ไปยังบูรไน ซึ่งถือเป็นประเทศในอาเซียนล่าสุด หลังจากที่ได้ดำเนินการกับอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม และอยู่ระหว่างทดสอบระบบการเชื่อมโยงฯ e-Form D กับฟิลิปปินส์และกัมพูชา

“การเชื่อมโยงฯ e-Form D กับบรูไนจะช่วยสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง AFTA ซึ่งบรูไนได้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีนำเข้า (0%) สำหรับสินค้าที่ส่งออกจากไทยทุกรายการ ส่งผลให้สินค้าไทยมีแต้มต่อเหนือสินค้าจากประเทศอื่นๆ ซึ่งไม่ได้เป็นภาคีความตกลง AFTA ประมาณ 5-20% แล้วแต่ประเภทสินค้า”

สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังตลาดบรูไน ประกอบด้วย ข้าว รถยนต์ รถยนต์ไฟฟ้า เครื่องประดับ อาหารสุนัขและแมว น้ำตาล และพอร์ตแลนด์ซีเมนต์ เนื่องจากข้อจำกัดของขนาดพื้นที่และสภาพภูมิประเทศส่งผลให้บรูไนจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าอาหารและอาหารแปรรูปเพื่อการบริโภคภายใน ซึ่งสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพอันดับต้นๆ ของโลก ส่วนสินค้าที่มีลู่ทางสดใสในตลาดบูรไน ได้แก่ กุ้งแช่แข็ง ปลาปรุงแต่ง อาหารปรุงแต่งที่ทำจากธัญพืช ผลไม้ปรุงแต่ง น้ำดื่มรวมถึงน้ำอัดลม น้ำผลไม้ ซอส และของปรุงแต่งสำหรับทำซอส ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยจะละเลยไม่ได้ คือ มาตรฐานวัตถุดิบและกระบวนการปรุงจะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม หรือการเป็นอาหารฮาลาล

นายอดุลย์กล่าวว่า โครงการเชื่อมโยง e-Form D ถือเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการอำนวยความสะดวกทางการค้า ลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการใช้สิทธิประโยชน์ของภาคเอกชน แม้ว่าเดิมกระบวนการยื่นขอและการพิจารณาออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าสามารถดำเนินการผ่านระบบอินเตอร์เน็ต แต่ผู้ประกอบการต้องเดินทางมารับหนังสือรับรองฯ ต้นฉบับเพื่อส่งให้ผู้นำเข้านำไปยื่นต่อศุลกากรปลายทาง ประกอบการขอรับสิทธิในการยกเว้น/ลดหย่อนภาษีนำเข้า ขณะที่โครงการเชื่อมโยงฯ e-Form D ข้อมูลหนังสือรับรองฯ ที่ได้รับการพิจารณาอนุมัติจะถูกส่งโดยอัตโนมัติในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ไปยังประเทศปลายทางที่เข้าร่วมโครงการเชื่อมโยงฯ e-Form D พร้อมทั้งแจ้งสถานะให้ผู้ยื่นคำขอทราบในทุกขั้นตอน ทำให้กระบวนการขอรับ/ใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ AFTA ตั้งแต่ยื่นคำขอจนถึงการพิจารณาให้สิทธิฯ ของศุลกากรปลายทาง เป็นการดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ครบวงจร ส่งผลให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้

นอกจากนี้ การเชื่อมโยงข้อมูลฯ e-Form D ถือเป็นย่างก้าวสำคัญต่อการเข้าสู่ระบบการค้าไร้กระดาษ และการบรรลุเป้าหมายของความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน หรือ ASEAN Single Window (ASW) ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น