ประกาศ กกร.ให้แจ้งราคายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ มีผลบังคับใช้แล้ว ขีดเส้นโรงพยาบาลเอกชนแจ้งราคาซื้อขายภายใน 45 วัน ก่อนเรียกคุย หลังพบบางรายฟันหัวแบะ มีส่วนต่างราคาซื้อกับขายตั้งแต่ 29.33% สูงสุด 8,766.79% ฟันกำไรตั้งแต่ 47.73% ถึงสูงสุด 16,566.67% ส่วนใบสั่งยาต้องแจ้งชื่อยา-วิธีใช้-ราคาต่อหน่วย เพื่อให้นำไปซื้อข้างนอกได้ พร้อมให้ตั้งคณะอนุกรรมการดูแลการรักษาเกินจริงทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ขณะนี้ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ฉบับที่ 52 พ.ศ. 2562 เรื่องการแจ้งราคา การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเกี่ยวกับการจำหน่ายยารักษาโรค เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาล ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค. 2562 หลังจากที่ น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธาน กกร.ได้ลงนามเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา โดยกรมฯ มั่นใจว่ามาตรการที่ออกมาภายใต้ประกาศ กกร.ดังกล่าวจะช่วยดูแลผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมจากการเข้าไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนได้อย่างแน่นอน
สำหรับรายละเอียดในประกาศ กกร. ได้กำหนดให้โรงพยาบาลเอกชน ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายส่ง ต้องแจ้งราคาซื้อ-ราคาจำหน่ายยา เวชภัณฑ์ ค่าบริการ ตามรายการที่อยู่ในบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ (UCEP) เบื้องต้นอยู่ที่ 3,892 รายการ และในอนาคตจะขยายผลให้ครอบคลุมรายการยาตามรหัสบัญชีข้อมูลยาและรหัสยามาตรฐานไทย (TMT) โดยบัญชียามีจำนวนกว่า 32,000 รายการ บัญชีเวชภัณฑ์ 868 รายการ และค่าบริการทางการแพทย์ 5,286 รายการ และยังกำหนดให้โรงพยาบาลที่มีการเปลี่ยนแปลงราคายาต้องแจ้งให้กรมฯ ทราบก่อนปรับราคาภายใน 15 วัน หากไม่แจ้งราคาซื้อ-ราคาจำหน่ายตามที่ประกาศกำหนดจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละ 2,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน หรือจนกว่าจะแจ้ง
“ได้ทำหนังสือถึงโรงพยาบาลเอกชนทั้ง 353 แห่งแล้ว และให้ระยะเวลาในการแจ้งราคาซื้อขาย ภายใน 45 วัน ใครไม่แจ้งจะมีโทษตามที่กฎหมายกำหนด หลังจากได้ข้อมูลมาครบแล้วจะนำขึ้นเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมฯ และโรงพยาบาลเอกชนต้องแสดง QR Code เปิดเผยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้โดยสะดวกด้วย รวมทั้งจะเรียกรายที่คิดราคาแพงเกินจริง หรือคิดกำไรเกินจริงมาสอบถามเหตุผลด้วย” นายวิชัยกล่าว
ทั้งนี้ เบื้องต้นกรมฯ พบว่าโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง มีส่วนต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาขายตั้งแต่ 29.33% จนถึงสูงสุด 8,766.79% หรือมีส่วนต่างราคาตั้งแต่ 10.83 บาท จนถึงสูงสุด 28,862 บาท และมีกำไรตั้งแต่ 47.73% ไปจนสูงสุด 16,566.67% มีตัวอย่างยาที่ซื้อขาย เช่น ยา S_DOPROCT ราคายา 17 บาท ขายเฉลี่ย 148 บาท ขายสูงสุด 303 บาท ยา ORFARIN ราคายา 2 บาท ขายเฉลี่ย 13.75 บาท สูงสุด 36 บาท ยา XANDASE ราคายา 3 บาท ขายเฉลี่ย 6 บาท สูงสุด 20 บาท ยา AMPHOTERICIN-B ราคายา 452 บาท ขายเฉลี่ย 937 บาท ขายสูงสุด 2,200 บาท เป็นต้น
นายวิชัยกล่าวว่า สำหรับใบสั่งยา ประกาศ กกร.กำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนต้องประเมินค่ารักษาเบื้องต้นให้ผู้ป่วยทราบ และต้องแจ้งราคายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยทราบ ก่อนจำหน่ายหรือให้บริการ เมื่อผู้ป่วยร้องขอ และในการจำหน่ายยาสำหรับผู้ป่วยนอก ให้โรงพยาบาลต้องออกใบสั่งยาตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม และใบแจ้งราคายา ให้ผู้ป่วยทราบล่วงหน้า โดยใบสั่งยาอย่างน้อย ต้องประกอบด้วยชื่อสามัญทางยา ชื่อทางการค้า รูปแบบยา ขนาดหรือปริมาณ จำนวน วิธีใช้ ระยะเวลาในการใช้ และใบแจ้งราคายาต้องประกอบด้วยชื่อยาตามใบสั่งยาและราคาต่อหน่วย หากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการในส่วนกลางและส่วนจังหวัดเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย กรณีมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการให้บริการรักษาพยาบาลที่เกินความจำเป็น หรือการคิดค่าบริการรักษาพยาบาลสูงเกินสมควร เช่น ปวดท้อง คิดราคา 3 หมื่น หรือปวดหัว แต่ให้บริการทั้งตรวจตา วัดชีพจร ตรวจลิ้น ทำทีซีสแกน หรือคิดค่าชะโงกจากการนำแพทย์มาให้บริการหลายคน เป็นต้น หากผู้บริโภคเห็นว่ามีการคิดราคาสูงเกินสมควรจริง และร้องเรียนเข้ามาและพบว่าผิดจริงจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ