xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์ชงตั้งวอร์รูมเกาะติดเทรดวอร์ ประเมินยกแรกส่งออกยอดหายแล้ว 2 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“พาณิชย์” ถกภาคเอกชนประเมินและทำแผนรับมือสงครามการค้า เตรียมชง กนศ.ที่มี “บิ๊กตู่” เป็นประธาน ตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์เพื่อแก้ปัญหาให้เร็วขึ้น ทันสถานการณ์มากขึ้น พร้อมเสนอ 3 มาตรการรับมือ ทั้งเดินหน้าหาตลาดใหม่ เร่งเจรจาเอฟทีเอ ปรับโครงสร้างสินค้าส่งออก ระบุผลกระทบจากสงครามการค้าตั้งแต่ปี 61 ถึงปัจจุบัน ทำยอดส่งออกหายแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท ส่วนเป้าส่งออกปีนี้จะลดหรือไม่ รอ “สมคิด” เคาะ 31 พ.ค.นี้

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับภาคเอกชน เพื่อหาแนวทางรับมือผลกระทบจากสงครามการค้าว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันประเมินผลกระทบจากสงครามการค้าที่มีต่อการค้า และการส่งออกของไทย รวมถึงมีสินค้าใดได้รับผลกระทบ โดยพบว่าตั้งแต่เริ่มต้นสงครามการค้าในปี 2561 ทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยตั้งแต่ปี 2561 ถึงช่วง 4 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-เม.ย.) หายไปแล้ว 630.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นเงินบาทลดลงประมาณ 2 หมื่นล้านบาท) หรือลดลง 0.19% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่หากนับเฉพาะช่วง 4 เดือนของปี 2562 มูลค่าการส่งออกของไทยลดลงแล้ว 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับมูลค่าการส่งออก 630.3 ล้านเหรียญสหรัฐที่หายไป มาจากการที่ไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ในกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการเซฟการ์ดปรับขึ้นภาษีนำเข้า ทั้งเหล็กและอะลูมิเนียม รวมถึงเครื่องซักผ้า และแผงโซลาร์เซลล์จากทั่วโลก ลดลง 32.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลง 6.7% และไทยส่งออกสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน ลดลง 1,337 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลง 8% แม้ว่าไทยจะส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ในสินค้าบางกลุ่มที่สหรัฐฯ นำเข้าเพื่อทดแทนสินค้าจากจีนได้เพิ่มขึ้น 738.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 6.3% แต่ก็เพิ่มขึ้นน้อยกว่ายอดส่งออกที่ลดลง

น.ส.ชุติมากล่าวว่า สำหรับแผนการรองรับผลกระทบจะมีทั้งระยะสั้น กลาง และยาว โดยในระยะสั้น ให้ดำเนินการหาตลาดใหม่ให้มากขึ้น และหามาตรการป้องกันตัวเองและติดตามเฝ้าระวังการสวมสิทธิ์สินค้าไทยเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ส่วนระยะกลาง จะเร่งเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพื่อไม่ให้เกิดการเสียบเปรียบด้านการค้า ขณะที่ระยะยาว ไทยจะต้องปรับโครงสร้างสินค้าส่งออก ให้มีสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม และสินค้าเกษตรมากขึ้น จากปัจจุบันที่สินค้าส่งออกหลักของไทยจะเป็นสินค้าอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ และจะต้องปรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้มีการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

“มองว่าปัญหาสงครามการค้าน่าจะยืดเยื้อ จึงจะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในการประชุมวันที่ 11 มิ.ย. 2562 จัดตั้งวอร์รูม หรือศูนย์ติดตามสถานการณ์สงครามการค้า โดยจะเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการจากสถาบันต่างๆ มาร่วม เพื่อให้การแก้ปัญหาทันกับสถานการณ์ และเพื่อให้การแก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงจะเสนอมาตรการแก้ปัญหาทั้ง 3 ระยะให้พิจารณาด้วย” น.ส.ชุติมากล่าว

น.ส.ชุติมากล่าวว่า ส่วนเป้าหมายการส่งออกของไทยในปี 2562 กระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้ปรับเป้าหมายใหม่ เพราะต้องรอหารือในการประชุมทูตพาณิชย์ ร่วมกับภาคเอกชน เพื่อประเมินสถานการณ์อีกครั้งในวันที่ 31 พ.ค. 2562 ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยเดิมกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายมูลค่าส่งออกขยายตัว 8% มูลค่าประมาณ 272,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ภาคเอกชนประเมินขยายตัวได้เพียง 0-1%

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมฯ ได้จัดเวทีให้พาณิชย์จังหวัดที่เป็นหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการ 18 กลุ่มจังหวัด พร้อมผู้ประกอบการเจ้าของสินค้า ได้พบกับทูตพาณิชย์ เพื่อรับคำปรึกษาโอกาสทางการตลาดและช่องทางในการขยายตลาดสู่ต่างประเทศ โดยมีสินค้าท้องถิ่นที่คัดเลือกมาเบื้องต้นประมาณ 50 สินค้า แยกเป็นกลุ่มอาหารและเกษตรแปรรูป 31 รายการ กลุ่มสุขภาพและความงาม 10 รายการ กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และทุนวัฒนธรรม 6 รายการ และกลุ่มเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ 3 รายการ โดยมั่นใจว่าจะช่วยผลักดันให้สินค้าเหล่านี้เปิดตัวออกสู่ตลาดโลกได้แน่


กำลังโหลดความคิดเห็น