นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 อนุมัติให้มีการทำ PPP โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และให้โอนกิจการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ให้เอกชน ซึ่งล่าสุดกลุ่ม ซี.พี.เป็นผู้ชนะสัมปทานและต้องการเข้ามารับช่วงต่อในการบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ต่อไป ทำให้ในอนาคตอีกไม่นานนี้พนักงานแอร์พอร์ตเรลลิงก์กว่า 500 ชีวิตต้องขาดพันธกิจในการทำงาน หลังมีการถ่ายโอนงานใหม่ให้กับทางกลุ่ม ซี.พี.
ก่อนหน้านี้ได้มีการตั้งบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.(รฟฟท.) ขึ้นมาเพื่อรองรับภารกิจใหม่ของพนักงานแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2561 การรถไฟฯ ได้กำหนดภารกิจหลักให้กับ รฟฟท.เพื่อดำเนินธุรกิจรถไฟฟ้าภายใต้โครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมือง หรือที่เรียกว่าสายสีแดง ซึ่งแบ่งเป็น 2 ช่วง คือเริ่มตั้งแต่ บางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทางทั้งสิ้น 41. 6 กิโลเมตร มีจำนวน 13 สถานี มีพื้นที่เชิงพาณิชย์ 1,049 ตร.ม.
มีรายงานข่าวว่าโครงการรถไฟสายสีแดงนี้จะเริ่มเปิดทดลองวิ่งในราวกลางปี 2563 และเปิดบริการอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2564 ซึ่งต้องรอมติคณะรัฐมนตรีให้มีการอนุมัติ
นอกจากนี้ ยังต้องไฟเขียวให้มีการโอนย้ายพนักงานของแอร์พอร์ตเรลลิงก์เข้ามาเป็นพนักงานของ รฟฟท. ซึ่งมีจำนวนกว่า 500 อัตรา และเพิ่มอัตรากำลังกว่า 300 อัตรา รวมเป็นกว่า 800 อัตรา และคาดว่าในอนาคตอาจจะต้องมีการเพิ่มพนักงานอีกเป็น 1,300 อัตรา หากต้องมีการดำเนินโครงการสายสีแดง และโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์เชิงพาณิชย์คู่ขนานกัน
ร.ฟ.ท.รับมือหวั่นปัญหาสมองไหล
แหล่งข่าวจากการถไฟฯ กล่าวว่า ทาง ร.ฟ.ท.ก็มีความวิตกกังวล จึงได้เสนอแนวทางให้มีการกำหนดเงื่อนไขให้เอกชนที่ชนะการประมูลคือกลุ่ม ซี.พี.ต้องจัดหาบุคลากรมารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและระบบภายในเดือน ก.ค. 2563 เพื่อป้องกันปัญหาในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ทำให้เกิดความล่าช้า พร้อมทั้งต้องจัดหาบุคลากรมาทดแทนส่วนที่ออกไปอยู่กับเอกชนได้ทันก่อนเปิดให้บริการสายสีแดง ซึ่งในช่วงการเปลี่ยนผ่านและทับซ้อนของบุคลากรที่ต้องดำเนินการทั้ง 2 โครงการนี้อยู่ในช่วง 3-4 เดือน ซึ่งทางกลุ่ม ซี.พี.อาจเตรียมบุคลากรไว้บางส่วนในช่วงเปลี่ยนผ่าน และมีการจ้าง OutSource ซึ่งส่วนมากเป็นพนักงานสถานีที่ไม่ต้องอาศัยความชำนาญมากนัก ทั้งนี้ หากเอกชนไม่สามารถเตรียมบุคลากรเข้ามาทำงานได้อาจต้องเลื่อนกำหนดการเปิดให้บริการสายสีแดงออกไป แต่คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ล่าช้าออกไปแต่ไม่เกินเดือนมิถุนายน 2564 เพราะในช่วงนี้เอกชนที่มีการเปลี่ยนผ่านต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 2 ปี
เผยข้อดีการเพิ่มพันธกิจใหม่ให้ รฟฟท.
แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า หากพิจารณาข้อดีของการตั้งบริษัทขึ้นใหม่คือ รฟฟท.เพื่อมาดำเนินการรถไฟฟ้าภายใต้โครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) นี้จะช่วยให้สามารถวางแผนให้พนักงานของ รฟฟท.มีการผลัดเปลี่ยนหุมนเวียนกันฝึกอบรมภายในองค์กร เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองได้ เพราะการอบรมพนักงานต้องใช้เวลาเตรียมการก่อนเปิดอย่างน้อย 18-21 เดือนก่อนเปิดให้บริการ ซึ่งหากเกิดความล่าช้าก็จะทำให้ไม่มีองค์กรรองรับบุคลากรเหล่านี้และเกิดปัญหาในการจัดการ
นอกจากนี้ การที่ รฟฟท.เป็นผู้ดำเนินการรถไฟฟ้าภายใต้โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงจะช่วยลดความเสี่ยงจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก เพราะหากไม่ได้โครงการรถไฟชานเมืองมาดำเนินการต่อจะต้องมีการยุบบริษัท รฟฟท.หลังจากกิจการต้องถ่ายโอนไปเป็นของเอกชน ซึ่งปัญหาตามมาจะเป็นปัญหากับสหภาพแรงงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการให้บริการของแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ก่อนที่จะถ่ายโอนไปเป็นของกลุ่ม ซี.พี.
ร.ฟ.ท.บริหารสายสีแดง มั่นใจรถไฟวิ่งฉลุย
มีรายงานข่าวว่า หาก ครม.ไฟเขียวให้ รฟฟท.เข้ามาเป็นผู้ดำเนินธุรกิจรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงก็จะง่ายต่อการจัดการบุคลากร เพราะมีการจัดวางแผนให้พนักงานของ รฟฟท.หมุนเวียนกันอบรมเพื่อรองรับการเปิดให้บริการในอนาคต และยังสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการเลิกองค์กร เพราะจะมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจ้างพนักงาน และลดความขัดแย้งกับสหภาพฯ
ขณะที่ รฟฟท.นี้จะเป็นระบบที่ช่วยพัฒนาระบบขนส่ง (Feeder) รองรับและเชื่อมโยงโครงการเข้ากับพื้นที่ชุมชนที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่นในบริเวณชานเมือง และคาดว่าภายใน 5 ปี หาก ร.ฟ.ท.สามารถบริหารจัดการได้ดี ก็จะมีการโอนสินทรัพย์เพิ่มเติมให้ในส่วนระบบไฟฟ้าและเครื่องกล
อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินงานของ รฟฟท.จะเป็นรูปแบบของ Net Cost รฟฟท.จะเป็นผู้จัดเก็บรายได้ค่าโดยสาร มีความคล่องตัวในการบริหารจัดเก็บรายได้ สามารถพิจารณามูลค่าโดยรวมได้ดีขึ้น หากมีกรณีการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน ทั้งนี้ จะสามารถสร้างความตระหนักในการเพิ่มจำนวนผู้โดยสารเพื่อสร้างกำไรแก่บริษัทด้วย
ส่วนเงินลงทุนเริ่มต้นนั้นคาดว่าจะต้องมีการขออนุมัติให้ ร.ฟ.ท.จัดหาแหล่งเงินทุน ใช้ประมาณ 3,400 ล้านบาท สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งคิดเป็นส่วนหนึ่งของทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 10,509 ล้านบาท
รอ ครม. ยกเว้นกฎระเบียบ
นอกจากนี้ ยังต้องรอให้ ร.ฟ.ท.เสนอขออนุมัติยกเว้น กฎระเบียบ ข้อบังคับ และมติ ครม.ที่บังคับใช้กับรัฐวิสาหกิจทั่วไปได้ เพื่อขอยกเว้นบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือน ค่าจ้าง 58 ขึ้น และขอยกเว้น พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เพื่อยกเว้นภาษีสำหรับการโอนทรัพย์สินระหว่าง ร.ฟ.ท.กับ รฟฟท. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้ รฟฟท.ใช้สินทรัพย์ของ ร.ฟ.ท.โดยไม่คิดค่าตอบแทน
ซี.พี.ประกาศจุดยืนรถไฟความเร็วสูง
ขณะที่ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ประกาศจุดยืนของเครือ ซี.พี.ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินว่า มุ่งประโยชน์เพื่อประเทศและประชาชน แม้โครงการยาก-เสี่ยงสูง แต่ “งานพัฒนา” มากกว่าแค่การลงทุน
“เครือ ซี.พี.ต้องใช้ความรู้ความสามารถเต็มที่ และดึงคนเก่งๆ จากทั่วโลกมาช่วยกันทำให้สำเร็จ เพราะโครงการนี้ถือเป็นโครงการพื้นฐานแรกของภูมิภาคอาเซียน และเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก ซึ่งจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และส่งเสริมให้ประเทศเพื่อนบ้านในแถบ CLM เติบโตไปได้พร้อมๆ กันแบบยั่งยืน”