xs
xsm
sm
md
lg

ไฮสปีดไทย-จีนยังไม่ลงตัว เร่งบอร์ด ร.ฟ.ท.เคาะปิดจ็อบสัญญา 2.3

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“อาคม” บีบจีนรับเงื่อนไขสัญญา 2.3 ภายใต้ กม.ไทย โยนบอร์ด ร.ฟ.ท.เคลียร์ประเด็นอัตราค่าปรับ และค่าหลักประกัน ด้าน “วรวุฒิ” เผย 17 พ.ค.นี้เสนอบอร์ดขยายเวลาเจรจาสัญญา 2.3 ถึง ส.ค. หวั่นสรุปเงื่อนไขไม่ทัน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การเจรจาสัญญา 2.3 (งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร) โครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ได้ตกลงในกรอบวงเงินแล้วที่ 50,633.50 ล้านบาท โดยจะพยายามขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) พ.ค.นี้ ซึ่งร่างสัญญายังเหลืออีก 3 ประเด็นที่เป็นอำนาจคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ต้องพิจารณา ได้แก่ ค่าปรับ, การประกันโครงการ ซึ่งจีนยอมรับเงื่อนไขภายใต้กฎหมายไทย เหลือเพียงการตกลงตัวเลขให้ตรงกัน

“วงเงินสัญญา 2.3 ได้เจรจาถึงที่สุดแล้ว ตกลงกันที่ 5.06 หมื่นล้านบาท สูงกว่ากรอบที่ ครม.อนุมัติ 3.85 หมื่นล้าน แต่เป็นการโยกเงินจากงานโยธามา 7 พันล้าน อีกส่วนเป็นการเปลี่ยนรุ่นรถไฟความเร็วสูง และรูปแบบก่อสร้าง ประมาณ 900 กว่าล้าน ซึ่งจะเกลี่ยจากค่างานโยธาที่ประหยัดได้หลังประมูลครบทุกตอน มั่นใจว่าจะไม่เกินกรอบโครงการรวม 179,413 ล้านบาท” นายอาคมกล่าว

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า บอร์ด ร.ฟ.ท.จะประชุมวันที่ 17 พ.ค. ซึ่ง ร.ฟ.ท.จะเสนอบอร์ดขยายเวลาการเจรจารถไฟไทย-จีน สัญญา 2.3 ออกไปจนถึงเดือน ส.ค. 2562 ออกไปก่อน เนื่องจากตามคำสั่งหัวหน้า คสช. มาตรา 44 ที่ 30/2560 เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2560 ให้เจรจาให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน หากยังดำเนินการไม่เสร็จให้รายงานกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมาได้ขอขยายเวลามาหลายครั้งแล้ว ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าเงื่อนไขในร่างสัญญา 2.3 ที่เหลืออีก 3 ประเด็นจะสรุปเสนอบอร์ดได้ทันหรือไม่ จึงขอขยายเวลาเอาไว้ก่อน

***จีนต่อรองลดประกันผลงาน และค่าปรับ-ชงบอร์ด ร.ฟ.ท.ตัดสิน

รายงานข่าวแจ้งว่า เงื่อนไขสัญญา 2.3 ที่ยังไม่สรุปนั้นเป็นอำนาจบอร์ด ร.ฟ.ท.ต้องพิจารณามี 3 ประเด็น คือ ไทยต้องการให้จีนรับประกันกรณีเกิดเหตุกับโครงการในอนาคตแบบไม่มีข้อจำกัด ซึ่งจีนไม่ยอม และขอให้ไทยร่วมรับความเสี่ยงด้วย, อัตราค่าปรับกรณีจีนทำงานล่าช้า ตามกฎหมายไทย กำหนด 0.01-0.1% ซึ่งก่อนหน้านี้จีนเสนอ 0.001% แต่ไทยรับไม่ได้ ขณะที่จีนไม่ยอมรับค่าปรับ 0.1% เพราะสูงเกินไป โดยให้เหตุผลว่าเป็นโครงการรัฐต่อรัฐ จึงต่อรองกันที่ 0.05%

นอกจากนี้ยังมีประเด็นรับประกันผลงาน หรือการันตี ซึ่งเรื่องระยะเวลาตกลงกันแล้วที่ 2 ปี จากเดิมที่จีนเสนอรับประกันให้ 1 ปี ยังเหลือวงเงินหลักประกัน ที่จะหักไว้ก่อนและจ่ายคืนภายหลัง อัตรา 5-10% จีนเสนอที่ 5% ที่ต้องให้บอร์ดพิจารณา


กำลังโหลดความคิดเห็น