xs
xsm
sm
md
lg

เบรกประมูลรถไฟไทย-จีนช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง รอเจรจา"ซีพี"ใช้ทางร่วม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชะลอประมูล สัญญาช่วง “บางซื่อ-ดอนเมือง” รถไฟไทย-จีน รอเคลียร์ซีพี.จัดรูปแบบการเดินรถ ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน  หวังใช้ทางร่วมกัน (แชร์แทร็กซ์)  เพื่อวางราง 1 คู่ ประหยัดค่าลงทุน ขณะที่คาดกลางพ.ค.ประกาศ TORและราคากลาง รถไฟไทย-จีน อีก 6  สัญญาได้

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  เปิดเผยว่า  การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. เงินลงทุน 179,421 ล้านบาท  อยู่ในขั้นตอนประมูล ด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) e-bidding  จำนวน 5 สัญญา รวมระยะทาง 144 กม. วงเงินรวม 58,168 ล้านบาท ส่วนอีก 7 สัญญาที่เหลือ (งานทางวิ่งรวมงานสถานี งานอุโมงค์ และงานศูนย์ซ่อมบำรุง)อยู่ในขั้นตอนทำร่างTORและกำหนดราคากลาง

  ทั้งนี้ เส้นทางช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง เป็นพื้นที่ทับซ้อนที่มี 3 โครงการวางอยู่ในแนวเดียวกันได้แก่   โครงการรถไฟไทย-จีน ,รถไฟรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ที่จะต้องดำเนินการการก่อสร้างรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ส่วนต่อขยาย ช่วงพญาไท-ดอนเมือง) และรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น ขณะที่พื้นที่เขตทางเพียงพอสำหรับก่อสร้างทาง 2 คู่ ดังนั้นจะต้องโครงการที่ต้องใช้ทางร่วมกัน

  ส่วนโครงสร้างช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง นั้น หลักการโครงการใดมาก่อน ให้เป็นผู้ก่อสร้างซึ่งขณะนี้วางไว้ให้ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน  เป็นผู้ก่อสร้างโครงสร้าง ส่วนรถไฟไทย-จีน   ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 11.83 กม.   อยู่ในส่วนของ 7 สัญญาหลัง จะชะลอการประมูลในสัญญานี้ไว้ก่อน

“ในเงื่อนไขรถไฟเชื่อม 3 สนามบินเอกชนทราบอยู่แล้วว่าต้องลงทุนโครงสร้างช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ส่วนการใช้ทางร่วมจะหารือกันต่อไป ซึ่งหาก รถไฟ 3 สนามบิน สามารถใช้ร่วมกับรถไฟไทย-จีนได้ จะก่อสร้างและวางรางเพียง 1 คู่เท่านั้น ไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อน เพราะโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินจะวิ่งไปสิ้นสุดที่ดอนเมือง เท่านั้น “ นายวรวุฒิกล่าว

    แหล่งข่าวจากรฟท.กล่าวว่า  ร่างTOR และราคางานโยธา รถไฟไทย-จีน 7 สัญญา  จะสรุปในเดือนพ.ค.นี้ และประกาศร่างTOR ขึ้นเวป ประชาพิจารณ์ได้ประมาณกลางเดือนพ.ค.นี้  คาดว่าประกาศประกวดราคาได้ปลายเดือนพ.ค. และจะออกประกาศประมูล 6 สัญญา ส่วนอีก 1 สัญญาช่วง  บางซื่อ-ดอนเมือง จะชะลอการประมูลไว้ก่อน เนื่องจากต้องดูความชัดเจน ของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะได้ดำเนินโครงการอย่างไรก่อน

ทั้งนี้  เมื่อออกจากสถานีกลางบางซื่อรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน จะมีทาง 1 คู่  และรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน 1 คู่  โดยโครงสร้างจะเป็นทางรถไฟยกระดับ  2 ชั้น ซ้อนกันโดยกำหนดให้รถไฟเชื่อม 3 สนามบินวางอยู่ชั้นล่าง  1 คู่ ส่วนรถไฟความเร็วสูง อยู่ด้านบน มี 1 คู่  

ประเด็นที่ต้องรอให้รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินชัดเจนก่อนคือ รูปแบบการบริหารการเดินรถ หากผู้บริหารรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน  สามารถเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ร่วมกับ รถไฟไทย-จีนได้หรือไม่  เพื่อใช้ แชร์แทร็กซ์   ส่วนรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน  และมีประเด็นว่าญี่ปุ่นไม่ยอมใช้ทางร่วมกับใคร ซึ่งเป็นเรื่องอนาคต ดังนั้น รฟท.จะต้องบริหารจัดการโครงการที่มาก่อน คือ รถไฟ 3 สนามบิน  และรถไฟไทย-จีนก่อน

  อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังมีเวลาอีกกว่า 1 ปี โดยงานวางรางและติดตั้งระบบของรถไฟไทย-จีน จะเข้าพื้นที่หลังจากงานโยธาก่อสร้างไปแล้วประมาณ 2 ปี หรือประมาณเดือนที่ 20   ซึ่งคาดว่าในเดือนก.ค.-ส.ค. 2562 จะได้ผู้รับเหมารถไฟไทย-จีนช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ครบทุกสัญญา ยกเว้นช่วง บางซื่อ-รังสิต


กำลังโหลดความคิดเห็น