กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ส.อ.ท.ค้านแนวคิดการจัดเก็บภาษีเกลือหลังเริ่มมีการเคลื่อนไหวที่จะจัดเก็บใน 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ หวั่นตลาด 6.3 หมื่นล้านบาทสะเทือน เสนอ 3 แนวทางให้ดำเนินการจะดีกว่า
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียวเพื่อลดโรคไม่ติดต่อระดับชาติเมื่อ 6 มี.ค. เห็นชอบให้จัดเก็บภาษีเกลือใน 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมกรุบกรอบ และผงชูรส ซึ่งกลุ่มอาหาร ส.อ.ท.ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวเพราะไม่ใช่มาตรการที่ถูกต้องและยังทำลายความแข็งแกร่งที่ต้นทุนผู้ประกอบการจะสูงขึ้น ทำให้ขีดความสามารถแข่งขันในตลาดทั้งในและภูมิภาคลดลง
“แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่ได้มีการนำมาสู่การปฏิบัติ แต่ก็อาจจะมีการนำเสนอกรมสรรพสามิตในการจัดเก็บภาษีเกลือเช่นเดียวกับกรณีภาษีน้ำตาลได้เช่นกัน ซึ่งกลุ่มอาหาร ส.อ.ท.ตระหนักถึงปัญหาต่อสุขภาพที่เกิดจากการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม แต่การบริโภคอาหารรสเค็มเป็นพฤติกรรมส่วนตัวไม่สามารถอนุมานได้ว่าเมื่อเก็บภาษีเกลือแล้วจะทำให้การบริโภคลดลง ซึ่งเรื่องนี้เราเองคงจะทำหนังสือถึงผู้เกี่ยวข้องหากมีการผลักดันที่จะนำไปสู่การปฏิบัติจริง” นายวิศิษฐ์กล่าว
สำหรับข้อเสนอแนะของกลุ่มอาหาร คือ 1. ฉลากทางเลือกสุขภาพ โดยความร่วมมือกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ ส.อ.ท.ในการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครับทราบ 2. ติดฉลาก GDA แสดงค่าพลังงาน ความหวาน มัน เค็ม เริ่มใช้แพร่หลายรวมทั้งกลุ่มสินค้าที่ไม่ถูกบังคับด้วย 3. ภาครัฐและเอกชนร่วมกันให้ความรู้ความเข้าใจการบริโภคที่ถูกต้องในเรื่องโภชนาการที่เหมาะสมแก่ประชาชน
ปัจจุบันมูลค่าตลาดอาหารกึ่งสำเร็จรูปประมาณ 16,000 ล้านบาท มูลค่าตลาดขนมขบเคี้ยวประมาณ 36,000 ล้านบาท มูลค่าตลาดผงชูรสประมาณ 11,000 ล้านบาท รวม 3 ตลาดมูลค่า 63,000 ล้านบาท หากรัฐพิจารณาจัดเก็บภาษีเกลือจริงก็จะกระทบตลาดโดยรวม