xs
xsm
sm
md
lg

อาเซียนเร่งสมาชิกหาท่าทีร่วม พร้อมจี้คู่เจรจาเปิดตลาดสินค้า หวังปูทางถก RCEP จบปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนผลักดันการเจรจา RCEP จบปีนี้ เดินหน้าไล่จี้สมาชิกให้หาท่าทีร่วมกันในเรื่องการคุ้มครองการลงทุน ถิ่นกำเนิดสินค้า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ก่อนนำไปเจรจากับคู่เจรจา 6 ประเทศ พร้อมขอให้คู่เจรจายื่นข้อเสนอเปิดตลาดสินค้าเพิ่มภายในเดือน มิ.ย. เผยหาก RCEP สำเร็จจะช่วยขับเคลื่อนการค้า การลงทุนในภูมิภาค

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) วันที่ 22-23 เม.ย. 2562 ที่ จ.ภูเก็ต รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้รับทราบความคืบหน้าการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ระหว่างอาเซียน 10 ประเทศ และคู่เจรจา 6 ประเทศ คือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งในบางเรื่องที่ยังติดขัด และอาเซียนยังไม่มีท่าทีเป็นหนึ่งเดียวกัน รัฐมนตรีจะพยายามผลักดันให้อาเซียนหาท่าทีร่วมกันให้ได้ ก่อนที่จะนำไปเจรจากับคู่เจรจา 6 ประเทศ

สำหรับเรื่องที่อาเซียนยังไม่มีท่าทีร่วมกัน อย่างการคุ้มครองการลงทุนที่ยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะใช้วิธีการใดระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนของสมาชิก RCEP กับรัฐบาลของประเทศผู้รับการลงทุน หากรัฐบาลออกนโยบาย หรือมาตรการที่มีผลกระทบต่อการลงทุน เช่น จะเปิดให้นักลงทุนฟ้องร้องรัฐบาลผู้เปิดรับการลงทุนได้หรือไม่ หรือจะมีกระบวนการหารือ กระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก หรือกระบวนอนุญาโตตุลาการ เป็นต้น และยังมีเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้า ที่ยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะกำหนดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบภายในสมาชิก RCEP ในอัตราเท่าไร เพื่อให้สินค้าที่ผลิตได้สามารถได้รับสิทธิประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีนำเข้า หรือไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ซึ่งบางประเทศต้องการให้กำหนดสัดส่วนสูง เช่น 60% แต่บางประเทศต้องการให้ต่ำกว่านี้ รวมถึงเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่มีบางประเด็นยังตกลงกันได้

ส่วนความคืบหน้าการเจรจาในภาพรวม ล่าสุดการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน คืบหน้าไปมากแล้ว โดยเป้าหมายที่จะให้สมาชิกลดภาษีสินค้า 90-92% ของรายการสินค้าและมูลค่าสินค้าที่ค้าขายระหว่างกัน โดยอาเซียน ลดได้ตามเป้าหมายแล้ว ส่วนคู่เจรจาทั้ง 6 ที่มีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับอาเซียนได้เปิดให้อาเซียนตามเป้าหมาย แต่คู่เจรจาทั้ง 6 ที่ไม่เคยทำ FTA ร่วมกันมาก่อน เช่น จีน-อินเดีย, จีน-ญี่ปุ่น, จีน-เกาหลี ยังเปิดไม่ถึงเป้าหมาย ส่วนใหญ่จะเปิดประมาณ 80% ซึ่งคงต้องหารือแบบทวิภาคีกันต่อไป แต่คู่เจรจาต้องส่งข้อเสนอการเปิดตลาดภายในเดือน มิ.ย. 2562 และคณะกรรมการเจรจาจัดทำ RCEP ต้องสรุปให้เสร็จภายในเดือนก.ค. ก่อนนำเสนอให้รัฐมนตรี RCEP พิจารณาในเดือน ส.ค.ในการประชุมที่ออสเตรเลีย

“ทั้ง 16 ประเทศต้องพยายามเร่งการเจรจาให้เสร็จภายในปีนี้ เพราะปัจจุบันการค้าโลกมีความไม่แน่นอนสูง และยังไม่รู้ว่าประเทศใดจะนำมาตรการกีดกันการค้ามาใช้อีก ซึ่งจะกระทบต่อการค้าโลก หาก RCEP สรุปการเจรจา และประกาศความสำเร็จในเดือน พ.ย. 2562 ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพ น่าจะทำให้ในปี 2563 สมาชิกจะลงนามความตกลงและน่าจะมีผลบังคับใช้ได้ ซึ่งจะทำให้การค้า การลงทุนระหว่างกันขยายตัวมากขึ้น และเข้มแข็งมากขึ้น เพราะ RCEP จะเป็นตลาดการค้าและการลงทุนที่ใหญ่สุดในโลก ครอบคลุม 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก มีประชากรรวมกันกว่า 3,500 ล้านคน ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศกว่า 23 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ” น.ส.ชุติมากล่าว

ปัจจุบัน การเจรจา RCEP เสร็จไปแล้ว 7 เรื่อง ได้แก่ บทเกี่ยวกับมาตรการสุขอนามัยพืชและสัตว์, กฎระเบียบทางเทคนิค, สถาบัน, พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า, การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ, ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ส่วนอีก 13 เรื่องที่อยู่ระหว่างการเจรจา เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์, การระงับข้อพิพาท, การแข่งขัน, ทรัพย์สินทางปัญญา, การเงิน, โทรคมนาคม, การเยียวยาทางการค้า และกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า รวมถึงการเปิดตลาดการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน


กำลังโหลดความคิดเห็น