xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจรจาฯ ปลื้มเอฟทีเอดันส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมไปอาเซียนและจีนพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยเอฟทีเอช่วยให้การส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นม เพิ่มขึ้นถึง 3,258% เมื่อเทียบกับปีที่เอฟทีเอฉบับแรกของไทยมีผลบังคับใช้ โดยเฉพาะตลาดอาเซียนโต 3,389% และจีนโต 5,550% มั่นใจแม้จะเปิดเสรีกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในปี 64 และ 68 ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้แน่ หลังเดินหน้าช่วยพัฒนา เตรียมรับมือ และชี้ช่องทางใช้เอฟทีเอขยายตลาด

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มีการติดตามสถานการณ์การส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นม โดยพบว่าความตกลงการค้าเสรี (FTA) เป็นปัจจัยสำคัญต่อการขยายตัวของการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมของไทย เนื่องจากภายใต้เอฟทีเอ 12 ฉบับที่ไทยทำกับ 17 ประเทศ มี 13 ประเทศที่ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้านมและผลิตภัณฑ์จากไทยแล้ว ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และชิลี เหลืออีก 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และเปรู ที่ยังเก็บภาษีนำเข้าสินค้านมและผลิตภัณฑ์บางรายการจากไทย เช่น ญี่ปุ่น (นม 21.3-25.5% โยเกิร์ต 21.3-29% ชีส 22.4-40%) เกาหลีใต้ (นม 26.8% โยเกิร์ต 28.8% ชีส 36%) เป็นต้น

ทั้งนี้ ในปี 2561 พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์ของไทยภายใต้เอฟทีเอ มีมูลค่าส่งออก 437.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3,258% เมื่อเทียบกับปี 2535 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ความตกลงเอฟทีเอฉบับแรกของไทยที่ทำกับอาเซียนจะมีผลบังคับใช้ ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้านมและผลิตภัณฑ์ของไทยจากประเทศเหล่านี้ ขยายตัวเพียง 187% โดยมูลค่าการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์ภายใต้เอฟทีเอ คิดเป็น 92% ของการส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์ของไทยไปทั่วโลก โดยอาเซียนและจีนเป็นตลาดที่ไทยส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นมากที่สุด โดย 3,389% และ 5,550% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ไทยทำความตกลงเอฟทีเอ

นางอรมนกล่าวว่า กรมฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมของเกษตรกรและผู้ประกอบการโคนมไทยรองรับการค้าเสรี โดยในการเจรจาเอฟทีเอ ได้เจรจาต่อรองทยอยลดภาษีศุลกากรสินค้านมและผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากประเทศคู่เอฟทีเอแบบค่อยเป็นค่อยไป ควบคู่กับการใช้มาตรการโควตาภาษีและมาตรการปกป้องพิเศษ เพื่อช่วยภาคการผลิตและอุตสาหกรรมโคนมไทยมีเวลาปรับตัวก่อนเปิดตลาดรับการแข่งขันในอนาคต โดยเฉพาะการเปิดตลาดให้กับสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในปี 2564 และ 2568

นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้จับมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมปศุสัตว์ และชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่พบปะกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโคนมในภูมิภาคต่างๆ ของไทย เช่น เชียงใหม่ สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น และกาญจนบุรี เป็นต้น เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการปรับตัวและเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันในโลกการค้าเสรี โดยเฉพาะการร่วมมือกันทำงานระหว่างผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อพัฒนาศักยภาพ คุณภาพการผลิตนมและผลิตภัณฑ์นมของไทย ให้สามารถแข่งขันขยายสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกไปอาเซียนและจีนโดยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ และในปีที่ผ่านมา ยังได้พาผู้ประกอบการนมและผลิตภัณฑ์นมของไทยไปเยี่ยมชมงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องที่เซี่ยงไฮ้ เพื่อศึกษาความต้องการของผู้บริโภคในตลาดจีนด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น