หัวหน้า คสช.ลงนามคำสั่ง มาตรา 44 เร่งรัดการบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนเดิมและต่อขยาย ทั้งหมดอย่างต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน โดยให้ตั้งคณะกรรมการ มี “ปลัดมหาดไทย” เป็นประธาน เจรจาสัมปทานบีทีเอสให้เรียบร้อยภายใน 30 วัน โดยกำหนดอัตราค่าโดยสารตลอดสายที่เหมาะสม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 3/2562 เรื่องการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยที่ปัจจุบันการจัดการบริการขนส่งสาธารณะโดยรถไฟฟ้าในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-แบริ่ง ช่วงบางหว้า-สนามกีฬาแห่งชาติ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ยังมีปัญหาในการบูรณาการ ทั้งเรื่องการบริหารจัดการโครงการ และการบริหารจัดการสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถไฟฟ้าที่ยังไม่มีความเป็นเอกภาพ จำเป็นต้องมีมาตรการแก้ไขปัญหาเพื่อให้การเดินรถเป็นไปอย่างต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation) อำนวยความสะดวกสบายในการเดินทางของประชาชนผู้โดยสาร และมีการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรม และไม่เป็นภาระแก่ประชาชน เพื่อให้การเข้าถึงการใช้บริการระบบขนส่งมวลชนเป็นไปอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง อันจะเป็นประโยชน์ต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และเพิ่มประสิทธิภาพต่อระบบคมนาคมขนส่งและระบบเศรษฐกิจของประเทศ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1
โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หมายความว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วง หมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน
“โครงการส่วนต่อขยายที่ 1” หมายความว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีสะพานตากสิน-สถานีบางหว้า และช่วงสถานีอ่อนนุช-สถานีแบริ่ง
“โครงการส่วนต่อขยายที่ 2” หมายความว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต
“สัญญาสัมปทาน” หมายความว่า สัญญาสัมปทานระบบขนส่งมวลชน ระหว่างกรุงเทพมหานคร กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ข้อ 2 ให้กรุงเทพมหานครดำเนินการจ้างผู้ประกอบการเอกชนเพื่อติดตั้งระบบรถไฟฟ้าจัดการเดินรถไฟฟ้า และบริหารการเดินรถไฟฟ้าโครงการส่วนต่อขยายที่ 2 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อแก้ปัญหาการจราจรและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยคำนึงถึงการให้ประชาชนได้ใช้บริการรถไฟฟ้าโดยเร็ว สะดวก และประหยัดค่าโดยสาร รวมทั้งเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเดินรถเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้ากับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและโครงการส่วนต่อขยายที่ 1 การจ้างตามวรรคหนึ่งไม่ถือเป็นการร่วมลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
ข้อ 3 เพื่อให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โครงการส่วนต่อขยายที่ 1 และโครงการส่วนต่อขยายที่ 2 สำมารถเดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation) รวมทั้งอัตราค่าโดยสารเป็นไปอย่างเหมาะสม ให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อัยการสูงสุด ผู้อำนวยกาสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินและด้านระบบรถไฟฟ้า ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งด้านละหนึ่งคนเป็นกรรมการ และปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการและเลขานุการ
ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งมีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสาร รวมถึงหลักเกณฑ์อื่นเพื่อประโยชน์ในการรวมโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โครงการส่วนต่อขยายที่ 1 และโครงการส่วนต่อขยายที่ 2 และดำเนินการเจรจาร่วมกับผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ เมื่อคณะกรรมการดำเนินการจนได้ข้อยุติตามวรรคสองแล้ว ให้ดำเนินการแก้ไขสัญญาสัมปทานกับผู้รับสัมปทานดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันในการดำเนินการตามวรรคสองและวรรคสาม ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประโยชน์สูงสุด ต่อประชำชนหรือผู้ใช้บริการ ความสะดวกและความปลอดภัยในการใช้บริการ การประหยัดค่าโดยสาร และการแบ่งปันผลประโยชน์ต่อภาครัฐอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
ข้อ 4 ในกรณีที่คณะกรรมการไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาตามข้อ 3 ให้กระทรวงมหาดไทยรายงานสาเหตุและผลการดำเนินการไปยังนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรี อาจพิจารณาอนุมัติให้ขยายระยะเวลาออกไปตามที่เห็นสมควรก็ได้
ข้อ 5 ในกรณีที่คณะกรรมการไม่สามารถหาข้อยุติได้ตามข้อ 3 หรือตามระยะเวลาที่นายกรัฐมนตรีขยายให้ตามข้อ 4 ให้ยุติการดำเนินการดังกล่าว และให้กระทรวงมหาดไทยรายงานผลการดำเนินการและเสนอแนวทางอื่นในการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
ข้อ 6 ในกรณีที่มีการดำเนินการตามข้อ 3 หรือข้อ 5 แล้วแต่กรณี จนได้ผลการเจรจาเป็นที่ยุติ และร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไขแล้ว ให้ถือว่าเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการ่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ในส่วนของการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนแล้ว ให้กรุงเทพมหานครเสนอร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไขต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนส่งสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับร่างสัญญาดังกล่าว และเมื่อสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาเสร็จแล้ว ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนำเสนอ คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีไม่เห็นชอบกับร่างสัญญาร่วมลงทุนตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งเรื่องคืนไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาทบทวนและเสนอความเห็นประกอบเรื่องทั้งหมดต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้ หากต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมร่างสัญญาร่วมลงทุน ให้ส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีด้วย โดยให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลมเมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบตามวรรคสองหรือวรรคสาม แล้วแต่กรณี ให้กรุงเทพมหานครลงนามในสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไขต่อไป
เมื่อได้มีการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนแล้ว ให้ดำเนินการตามขั้นตอนตามบทบัญญัติในส่วนที่ 3 การกำกับดูแลโครงการร่วมลงทุน หมวด 4 การจัดทำและดำเนินโครงการแห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไป
ข้อ 7 ให้นำประกาศคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต เรื่อง แนวทางและวิธีการในการดำเนินงานโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐแบบของข้อตกลงคุณธรรม การคัดเลือกผู้สังเกตการณ์ และการจัดทำรายงานตามมาตรา 17 และมามาตร 18 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและกำรบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาใช้กับการดำเนินการตามคำสั่งนี้
ข้อ 8 ในกรณีที่เห็นสมควรนำยกรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้
ข้อ 9 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
***ยืดใช้ฟรี "แบริ่ง-สมุทรปราการ"
ก่อนหน้านี้ กทม.ได้มีการเจรจากับ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS อย่างไม่เป็นทางการ เรื่องการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้และเหนือส่วนต่อขยาย ซึ่ง BTS ยอมรับในหลักการ เงื่อนไขในการรับชำระหนี้ค่าก่อสร้างกว่า 5 หมื่นล้านบาท ค่าระบบอาณัติสัญญาณกว่า 2 หมื่นล้านบาท และดอกเบี้ย ซึ่งมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยให้ชำระหนี้สินต่อกระทรวงการคลังให้เรียบร้อยในช่วง 10 ปีแรก ขณะที่กำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งเส้นทางหลักและส่วนต่อขยายทั้งหมด สูงสุดไม่เกิน 65 บาท
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่เจรจากับ BTS กทม.ได้ดำเนินการตามขั้นตอนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (PPP) ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 และเสนอไปยังคณะกรรมการ PPP ซึ่งหาก BTS ไม่รับเงื่อนไข กทม.ยังมีแนวทางเปิดประมูล ซึ่งจะเปิดกว้างให้เอกชนทุกรายเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งจะใช้เงื่อนไขเดียวกับที่เจรจากับ BTS
ขณะที่ปัจจุบันได้มีการเปิดให้บริการสายสีเขียวส่วนต่อขยาย “แบริ่ง-สมุทรปราการ” ไปแล้ว โดยไม่เก็บค่าโดยสาร และตั้งเป้าจะเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2562 แต่เนื่องจากการเจรจาและการแก้สัญญาสัมปทานยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้จะยังไม่สามารถเก็บค่าโดยสารได้อีกระยะหนึ่ง