กรมการค้าภายใน ชีดเส้นรพ.เอกชน ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ร้านขายยาขนาดใหญ่ ส่งข้อมูลราคาซื้อ-ขาย มาให้ภายใน 4 เม.ย.นี้ ใครเพิกเฉย มีโทษทั้งจำ ทั้งปรับ หวังนำข้อมูลมาวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุน และกำหนดราคามาตรฐานใช้อ้างอิงกรณีผู้ป่วยร้องเรียน พร้อมชง "กกร." ออกมาตรการดูแลเพิ่มเติม ทั้งโชว์ราคาขึ้นเว็บ กำหนดมาตรฐานบริการทางแพทย์ และบริการอื่น หวังใช้สร้างความเป็นธรรมให้ผู้บริโภค
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาราคายาและเวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาล เปิดเผยถึงความคืบหน้าการศึกษาโครงสร้างต้นทุนยา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ว่า กรมฯ ได้ทำหนังสือถึงโรงพยาบาลเอกชน 353 ราย ผู้ผลิต และผู้นำเข้ายาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ 339 ราย และร้านจำหน่ายยาขนาดใหญ่ ให้แจ้งข้อมูลซื้อ ขาย รวมถึงราคาซื้อ และขาย มายังกรมฯ ภายในวันที่ 4 เม.ย.2562 เพื่อที่กรมฯ จะนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุน และราคาขายที่เหมาะสม และดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภคในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน และยังเป็นการยกระดับมาตรฐานการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนไทยให้เป็นที่ยอมรับของผู้ป่วยทั้งในและต่างประเทศ
"ได้กำหนดมีระยะเวลาให้ผู้ที่เกี่ยวข้องส่งข้อมูลมาให้ภายในวันที่ 4 เม.ย.นี้ ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาเพิ่มเติมจากเดิมกำหนดให้ต้องส่งกลางเดือนมี.ค. หากครบกำหนดแล้ว ผู้ใดยังไม่ส่งข้อมูลมาให้ กรมฯจะดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 โดยจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งจนถึงขณะนี้ มีผู้ประกอบการส่งข้อมูลมาให้เพียงร้อยกว่ารายเท่านั้น"
นายวิชัยกล่าวว่า หลังจากได้ข้อมูลต่างๆ และวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนแล้วเสร็จ คณะทำงานฯจะเสนอให้คณะกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลราคายาและเวชภัณฑ์ ที่มีนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน พิจารณาเห็นชอบ จากนั้นจะนำเสนอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มีน.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ รักษาการรมว.พาณิชย์ เป็นประธานพิจารณามาตรการเพิ่มเติม ที่จะนำมาใช้กำกับดูแลต่อไป
สำหรับมาตรการเพิ่มเติม ที่จะเสนอให้กกร.พิจารณา เช่น การเผยแพร่ราคายาและเวชภัณฑ์ รวมถึงบริการทางการแพทย์ และบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่กรมฯได้วิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนแล้ว ทางเว็บไซต์ของกรมฯ หรือกำหนดมาตรฐานของการให้บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นๆ เพื่อให้กรมฯสามารถมีราคาที่เป็นมาตรฐาน และบรรทัดฐานไว้ใช้อ้างอิงกรณีที่มีผู้ป่วยร้องเรียนว่าใช้บริการของโรงพยาบาลเอกชนแล้วคิดค่ายา ค่ารักษาแพงเกินจริง ก็จะได้หามาตรการทางกฎหมายดำเนินกับโรงพยาบาลเอกชนรายนั้นๆ ภายใต้กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 ได้
ส่วนกรณีที่เสนอให้กระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้โรงพยาบาลประกาศสิทธิ์ของผู้ป่วยไว้ในที่ๆ เห็นได้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ป่วยรู้ว่าสามารถขอใบสั่งยาจากแพทย์ไปซื้อจากร้านขายยาภายนอกโรงพยาบาลได้นั้น ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างดำเนินการ
ก่อนหน้านี้ คณะทำงานฯได้ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นฐานในการกำหนดราคายาและเวชภัณฑ์ รวมถึงบริการทางการแพทย์ จากกระทรวงสาธารณสุข กรมบัญชีกลาง ผู้ผลิตและนำเข้าจากต่างประเทศ ราคาซื้อและขายของโรงพยาบาลเอกชน การเบิกเงินจากผู้เอาประกันทั้งในส่วนของประกันวินาศภัย และประกันชีวิต และราคาจากร้านขายยาขนาดใหญ่ที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งได้ข้อมูลครอบคลุมอาการที่ฉุกเฉินจำเป็น รวม 10,046 รายการ ประกอบด้วย กลุ่มยา 3,892 รายการ กลุ่มเวชภัณฑ์ 868 รายการ และกลุ่มค่ารักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นๆ 5,286 รายการ
ทั้งนี้ ภายหลังจากครม.นำยา เวชภัณฑ์ และบริการทางแพทย์เข้าสู่บัญชีสินค้าและบริการควบคุม ปี 2562 แล้ว กกร.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแล ที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน แต่ก่อนมีมาตรการใดๆ จะต้องรู้โครงสร้างต้นทุนที่แท้จริงก่อน คณะกรรมการฯจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาโครงสร้างต้นทุน ที่มีนายวิชัย เป็นประธาน โดยให้ศึกษาโครงสร้างต้นทุนให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ซึ่งจะครบกำหนดกลางเดือนเม.ย.นี้ ก่อนเสนอให้คณะกรรมการฯ และ กกร. ออกมาตรากำกับดูแลต่อไป