xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.เปิดให้เอกชน 34 รายยื่นเสนอราคาชิงดำนำเข้า LNG 1.5 ล้านตัน 18 เม.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กฟผ.เตรียมเปิดให้เอกชน 34 รายที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นยื่นข้อเสนอการแข่งขันด้านราคา เพื่อเป็นผู้จัดหา LNG ป้อน กฟผ.ปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปีวันที่ 18 เม.ย.นี้ คาดรู้ผลผู้ชนะปลาย เม.ย.เพื่อเดินหน้าการนำเข้าภายใน ก.ย. 62

นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า วันที่ 18 เมษายนนี้ กฟผ.จะเปิดให้ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น (PQ) ยื่นข้อเสนอการแข่งขันด้านราคา (บิดดิ้ง) เพื่อจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปีป้อนให้แก่ กฟผ. โดยคาดว่าจะสามารถประกาศได้ผู้ชนะประมูลปลายเดือนเมษายน 2562 เพื่อเตรียมการนำเข้าช่วงเดือนกันยายน 2562 ต่อไป


"กฟผ.ได้คัดเลือกผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นจำนวน 34 ราย จากที่มีผู้ที่ยื่นแสดงความสนใจทั้งสิ้น 43 ราย และ กฟผ.ได้ส่งเอกสารเชิญชวนประมูล (TOR) ด้านราคาไปยังผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นแล้วเมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา และจะเปิดให้ยื่นข้อเสนอด้านราคาในวันที่ 18 เม.ย. 62 นี้ และเมื่อได้ผู้ชนะก็จะต้องนำเสนอคณะกรรมการบริหาร กฟผ. และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) หากเป็นไปตามกำหนดจะลงนามกับผู้ชนะได้ในเดือน มิ.ย." นายธวัชชัยกล่าว

ทั้งนี้ ราคา LNG ที่ กฟผ.จัดหาต้องไม่สูงกว่าราคา LNG ต่ำสุดตามสัญญาจัดหาระยะยาวของประเทศไทย หรือต่ำกว่าสัญญาซื้อขายก๊าซระยะยาวที่มีราคาต่ำสุดในปัจจุบันของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 60 และได้มอบหมายให้ กฟผ.ทำหน้าที่เป็นผู้นำเข้า LNG รายใหม่ของประเทศ อย่างไรก็ตาม หากราคาที่ประมูลในครั้งนี้มีราคาสูงกว่าราคา LNG ต่ำสุดตามสัญญาในปัจจุบัน กฟผ.ก็จะยกเลิกแล้วเปิดประมูลใหม่

สำหรับการนำเข้า LNG ของ กฟผ.ปี 2562 เป็นปีแรกที่จะนำเข้าเบื้องต้นได้ 2.8 แสนตัน เนื่องจากขั้นตอนกว่าจะประมูลเหลือเวลาไม่นานนักแต่ปีต่อๆ ไปจะสามารถนำเข้าได้เพิ่มขึ้นที่จะสู่เป้าหมายไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปีเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าให้กับโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง อย่างไรก็ตาม การนำเข้า LNG ดังกล่าว กฟผ.จะต้องจ่ายค่าเช่าคลังและค่าใช้บริการท่อส่งก๊าซให้กับ ปตท. ซึ่งเป็นการนำร่องทดสอบความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานตามข้อกำหนดของรัฐบาลที่เปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้คลังและท่อก๊าซของ ปตท. (Third Party Access) เพื่อเป็นทางเลือกการใช้พลังงานให้กับประเทศในต้นทุนต่ำต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ กฟผ.ระบุว่า LNG ที่จัดหาในปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตัน/ปีนั้น จะใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ที่ประสิทธิภาพดีที่สุดของ กฟผ.เพื่อให้คุ้มค่ากับต้นทุนการนำเข้า LNG ซึ่งเบื้องต้น กฟผ.จะใช้สำหรับโรงไฟฟ้าวังน้อย ยูนิต 4 ขนาด 600-700 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งเป็นยูนิตใหม่ที่มีความต้องการใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงราว 7-8 แสนตัน/ปี หากสามารถจัดหา LNG ได้มากกว่าปริมาณดังกล่าวก็จะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าบางปะกงยูนิตใหม่ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น