ไทยโชว์บทบาทประธานอาเซียนผลักดันประเด็นด้านเศรษฐกิจคืบหน้าเพียบ ทั้งการทำแผนรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรม ผลักดันใช้เงินสกุลอาเซียนค้าขาย เร่งแผนแม่บทการท่องเที่ยวเชิงอาหาร การทำประมงอย่างยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาตลาดทุน การพัฒนาเชื้อเพลิงและพลังงานชีวภาพ ระบุจะรายงานความคืบหน้าทั้งหมดให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนรับทราบในการประชุมที่ภูเก็ต เม.ย.นี้
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียนในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนว่า ขณะนี้ประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ไทยได้ผลักดันมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก โดยจะรายงานให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ที่จะประชุมกันในวันที่ 23-25 เม.ย. 2562 ที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อรับทราบ และเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของอาเซียนดำเนินการผลักดันให้ประสบความสำเร็จภายในปี 2562 ตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ต่อไป
ทั้งนี้ ในด้านการรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรม จะจัดทำแผนงานด้านดิจิทัลของอาเซียน เช่น การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาระบบชำระเงินดิจิทัล การส่งเสริม SMEs และรายย่อยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมไปถึงการพัฒนาแรงงานรับมือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การจัดทำแผนส่งเสริมด้านนวัตกรรมของอาเซียน และการจัดทำปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมของอาเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0
ส่วนการเพิ่มโอกาสการค้าและการลงทุนในอาเซียน จะผลักดันให้อาเซียนใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อลดความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนในการชำระค่าสินค้าและบริการ โดยจะมีการจัดทำหลักเกณฑ์การจัดตั้งกลไกการชำระเงินสกุลท้องถิ่น ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเป็นผู้ดูแล และปัจจุบัน ธปท.ได้ร่วมมือกับธนาคารกลางอินโดนีเซียและมาเลเซียในการใช้เงินสกุลท้องถิ่นร่วมกันแล้ว และกำลังเจรจากับธนาคารกลางฟิลิปปินส์ คาดว่าจะมีการลงนาม MOU ในการจัดตั้งกลไกดังกล่าวในเดือน เม.ย. 2562 รวมถึงการพัฒนากลไกการระดมทุนจากภาคเอกชนสำหรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียน และยังจะมีการเชื่อมโยงระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASW) เพื่อแลกเปลี่ยนหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าให้ครบทั้ง 10 ประเทศ
นางอรมนกล่าวว่า เรื่องที่มีความคืบหน้าอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ การจัดทำแผนแม่บทด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารของอาเซียน โดยจะมีการใช้จุดเด่นของอาเซียนที่มีความหลากหลายด้านอาหารและวัฒนธรรมของแต่ละชาติมาเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้อาเซียนเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น ซึ่งในวันที่ 9-10 เม.ย. 2562 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในเรื่องนี้ เพื่อวางแผนการทำงาน เช่น การให้สมาชิกไปคัดเลือกเมืองของตนเพื่อประกวดเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงอาหาร และจัดประกวดกันเพื่อชิงรางวัล โดยรางวัลจะเหมือนมิชลินสตาร์ ซึ่งจะช่วยประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในอาเซียนให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น ส่วนไทยจะเสนอเส้นทางการศึกษาศิลปวัฒนธรรม “พารานากัน” จังหวัดสตูล เป็นตัวอย่างของเส้นทางที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจะผลักดันให้เป็นเส้นทางเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงอาหารและวัฒนธรรมระหว่างอาเซียน
สำหรับเรื่องที่มีความคืบหน้าอื่นๆ เช่น การทำประมงอย่างยั่งยืน ได้ผลักดันให้มีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อเริ่มดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำนโยบายเกี่ยวกับประมง และจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง เช่น รัฐชายฝั่ง เขตจับปลา เรือประมงที่ได้รับอนุญาต เป็นต้น การจัดทำแนวทางการพัฒนาตลาดทุนอาเซียน โดยคัดเลือกบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ของอาเซียนที่บริหารจัดการที่ดี เพื่อเป็นข้อมูลให้นักลงทุน การร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพและพลังงานชีวภาพในอาเซียน เพื่อผลักดันให้อาเซียนเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น