รถไฟไทย-จีนเจรจาครั้งที่ 27 ยังไม่ได้ข้อสรุปสัญญา 2.3 ไม่ลงตัว “อาคม” เจองบเพิ่ม เร่งจีนโชว์ราคากลาง ขีดเส้น เม.ย.ชง ครม.อนุมัติ เคาะดอกเบี้ยไม่เกิน 3% กู้จีนไม่เกิน 85% เตรียมเซ็นสัญญาก่อสร้าง ตอน 2 กับ “ซีวิล” 6 มี.ค.นี้ พร้อมเร่งเปิดประมูลอีก 12 สัญญา เริ่มตอกเข็มใน Q3/62
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.35 กม. วงเงินลงทุนรวม 179,412.21 ล้านบาท ภายใต้ความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ว่า การก่อสร้างแบ่งออกเป็น 14 สัญญา ซึ่งขณะนี้กำลังก่อสร้างงานโยธา (ถมคันดิน) ตอนที่ 1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. โดยมีความคืบหน้ากว่า 50% แล้ว และในวันที่ 6 มี.ค.นี้จะมีการลงนามสัญญาจ้างผู้รับเหมา คือ บริษัท ซีวิล เอนจิเนียริ่ง จำกัด ในสัญญา 2 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. วงเงิน 3,350.47 ล้านบาท
ส่วนอีก 5 สัญญา ระยะทาง 144.06 กม. วงเงินรวม 58,427.582 ล้านบาท คาดว่าจะลงนามสัญญาได้ในเดือน มิ.ย.นี้ ที่เหลืออีก 7 สัญญา ระยะทางรวม 111.4 กม. จะเร่งลงนามสัญญาให้ได้ในเดือน มิ.ย. เพื่อให้เริ่มก่อสร้างภายในไตรมาสที่ 3/2562
สำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 27 เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ยังไม่ได้ข้อยุติในเรื่องสัญญางานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ซึ่งจะต้องมีการเจรจาในรายละเอียดค่าใช้จ่าย ซึ่งประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อสรุป เช่น กรณีจีนเสนอรับประกันรถไฟความเร็วสูงหรือการันตีให้ 1 ปี ซึ่งฝ่ายไทยไม่ยินยอม โดยต้องการให้รับประกัน 2 ปี, ประเด็นจีนขอเคลมค่าปรับกรณีงานก่อสร้างงานโยธาล่าช้า เป็นต้น
“ไทยยืนยันต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของไทย ดังนั้นยังคุยกันไม่จบ นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายราคากลางแต่ละรายการยังไม่ได้เอกสารอ้างอิงจากจีน ซึ่งจีนถนัดทำงานแบบเทิร์นคีย์เหมาเบ็ดเสร็จ แต่ไทยยอมรับไม่ได้”
สำหรับกรอบวงเงินของสัญญา 2.3 อยู่ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพิ่มจากกรอบที่ ครม.อนุมัติไว้ที่ 38,558.35 ล้านบาท เนื่องจากจะมีการโยกย้ายเนื้องานบางส่วน เช่น งานที่ปรึกษา งานควบคุมงานประมาณ 7 พันล้านบาท แต่ไม่ทำให้กรอบโครงการรวมเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งล่าสุดการเจรจาในกรอบสัญญา 2.3 ยังเกินกว่ากรอบที่ 4.5 หมื่นล้านบาทอยู่ อย่างไรก็ตาม จะพยายามเจรจาให้ยุติ และเร่งเสนอ ครม.เพื่อให้ลงนามในสัญญา 2.3 ภายในเดือนเมษายน 2562
นายอาคมกล่าวถึงการเชื่อมต่อกับ สปป.ลาว ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์นั้น จากการประชุม 3 ฝ่าย ซึ่งจีนรับเป็นผู้ออกแบบนั้นได้ตกลงรูปแบบร่วมกันแล้วว่าสะพานทางรถไฟแห่งใหม่ที่จะร่วมกันจะมีรางขนาด 1 เมตรเป็นแบบทางเดี่ยว เนื่องจากมีความถี่ในการเดินรถไม่มากนัก และมีรางขนาด 1.435 เมตร สำหรับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งจะวางรางบนสะพาน 4 ราง หรือเป็นแบบทางคู่
โดยทางรถไฟจากหนองคาย-เวียงจันทน์ มีระยะทางประมาณ 14 กม. ตัวสะพานมีความยาวประมาณ 400-500 เมตร โดยไทยและลาวจะออกค่าใช้จ่ายบนสะพานคนละครึ่ง ส่วนทางรถไฟฝั่งไทยที่เชื่อมจากสถานีหนองคาย-กลางสะพานมีระยะทางประมาณ 10 กม. โดยสถานีหนองคายจะเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสาร สถานีนาทาเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้า
สำหรับเงินกู้ในสัญญา 2.3 นั้น อัตราดอกเบี้ยที่จีนเสนอไม่เกิน 3% ระยะปลอดดอกเบี้ย 5 ปี ระยะเวลากู้ทั้งหมด 25 ปี เป็นเงื่อนไขที่รับได้ โดยกระทรวงการคลังจะกู้จากจีนประมาณ 85% ของกรอบวงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท
สำหรับโครงการระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กม. วงเงินประมาณ 215,708.76 ล้านบาท จะเสนอของบประมาณเพื่อทบทวนผลการศึกษาและออกแบบรายละเอียดจำนวน 797 ล้านบาท โดยไทยดำเนินการศึกษาออกแบบเอง โดยมีจีนเป็นที่ปรึกษา มีเป้าหมายเปิดให้บริการได้ในปี 2569