xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออก ม.ค.ประเดิมไม่สวย ลบ 5.65% เจอพิษเทรดวอร์-บาทแข็งค่า ส่วนนำเข้าพุ่งจากการนำอาวุธมาซ้อมรบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“พาณิชย์” เผยส่งออก ม.ค. 62 ยอดตกเหลือ 1.89 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.65% เหตุเจอพิษสงครามการค้า บาทแข็ง ส่วนยอดนำเข้าสวนทางเพิ่ม 13.99% เหตุนำอาวุธมาใช้ซ้อมรบพุ่ง 4,837% ทำขาดดุลการค้ากว่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดรอบ 7 ปี แย้มส่งออกไตรมาส 1 ยังเจอพิษสงครามการค้า บาทแข็ง และคู่ค้าได้รับผลดีจากการทำเอฟทีเอ แนะผู้ส่งออกต้องทำประกันความเสี่ยงค่าบาท

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน ม.ค. 2562 มีมูลค่า 18,993.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.65% เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และติดลบครั้งแรกในปีนี้ โดยเมื่อเทียบในรูปเงินบาทการส่งออกมีมูลค่า 6.16 แสนล้านบาท ลดลง 5.72% ส่วนนำเข้ามีมูลค่า 23,026.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.99% ทำให้เดือน ม.ค.ขาดดุลการค้ามูลค่า 4,032.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการขาดดุลการค้าสูงสุดในรอบ 7 ปี นับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2556 ที่ไทยขาดดุลการค้า 5,916.2 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับสาเหตุที่ทำให้การส่งออกเดือน ม.ค. 2562 ติดลบ เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทำให้การส่งออกไทยในเดือน ม.ค. 2562 สูญเสียรายได้ 240.5 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการส่งออกไปจีนได้ลดลง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เป็นห่วงโซ่การผลิตของจีน และสินค้าเหล่านี้จีนถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษี เช่น ยานพาหนะและส่วนประกอบ ของใช้ในบ้าน ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์และแผงวงจร เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ แต่สินค้าที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีกับสินค้าจากทั่วโลก ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น ทั้งโซลาร์เซลล์ เครื่องซักผ้า อลูมิเนียม แต่เหล็กลดลง

นอกจากนี้ การส่งออกยังได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรได้รับผลกระทบ โดยภาพรวมลดลง 2.9% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และเฉพาะข้าวมีคำสั่งซื้อชะลอตัวลง เนื่องจากราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งขัน โดยส่งออกข้าวลดลง 1% ยางพารา ลด 15.1% มันสำปะหลัง ลด 18.5% ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม ลด 5.9% สินค้าสำคัญที่ลดลง เช่น สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ลด 9.6% รถยนต์และส่วนประกอบลด 5.1% เพราะส่งออกได้เพียง 8 หมื่นคัน จากคำสั่งซื้อ 1 แสนคัน เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ ลด 33.9% เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลด 10.1%

ส่วนการขาดดุลการค้าที่เพิ่มสูงขึ้น มาจากการนำเข้าอาวุธยุทธปัจจัยมีมูลค่า 2,133 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4,837.50% เนื่องจากมีการซ้อมรบระหว่างไทยและสหรัฐฯ และการซ้อมรบไทยและญี่ปุ่นซึ่งทั้งสองประเทศมีการนำเข้าอาวุธในการซ้อมรบเข้ามาเองและนำออกไปหลังจากเสร็จสิ้น ส่งผลต่อการส่งออกในเดือนต่อไปที่จะเพิ่มสูงขึ้น

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกไตรมาส 1 ยังคงได้รับผลกระทบของสงครามการค้าและค่าเงินบาทแข็งค่า แต่สถานการณ์ส่งออกจะกลับมาดีขึ้นประมาณไตรมาส 2 เป็นต้นไป ส่วนการส่งออกทั้งปี 2562 หากจะโตได้ตามเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ 8% มูลค่าการส่งออกในแต่ละเดือนจะต้องทำให้ได้ 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หากโต 5% การส่งออกจะต้องได้เดือนละ 22,300 ล้านเหรียญสหรัฐ และโต 3% การส่งออกต้องได้เดือนละ 21,900 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออกไทยในช่วง 1-2 เดือนนับจากนี้ นอกจากสงครามการค้า ค่าเงินบาทแข็งค่า การส่งออกจะได้รับผลกระทบจากการที่ประเทศคู่แข่งของไทยทำเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศต่างๆ เช่น เอฟทีเอเวียดนาม-สหภาพยุโรป (อียู) และการที่ไทยถูกญี่ปุ่นตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) วันที่ 1 เม.ย.2562 เพราะภาษีสินค้าที่ต่างกันเล็กน้อย ก็มีผลกระทบต่อการส่งออก

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของค่าเงินบาท เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะดูแลอย่างใกล้ชิด แต่ก็อยากแนะนำให้ผู้ส่งออกต้องทำประกันความเสี่ยง อย่าคิดว่าเงินบาทจะหยุดแข็งค่าแค่ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เพราะมีแนวโน้มที่เงินบาทจะแข็งค่าต่อเนื่องในอนาคตตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้น โดยเฉพาะหลังเลือกตั้ง และผู้ผลิตควรใช้โอกาสที่ค่าเงินบาทแข็งค่านำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบเข้ามาลงทุน


กำลังโหลดความคิดเห็น