FAA ยกทีมตรวจสอบมาตรฐานการกำกับด้านการบินของ กพท. ล่าสุดแก้ไขข้อบกพร่องได้เกือบหมด ลุ้นอีก 60 วัน ปลดล็อกทุกข้อบกพร่อง จ่อยกระดับขึ้น Category 1 ไฟเขียวสายการบินของไทยบินตรงเข้าสหรัฐฯ ได้ และเข้าประเทศที่อ้างอิงมาตรฐาน FAA ได้เสรี
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11-15 กุมภาพันธ์ 2562 ผู้แทนสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (FAA) ได้เข้าตรวจสอบ ระบบการกำกับดูแลการบินพลเรือนของประเทศไทย ว่าได้ดำเนินการตามมาตรฐานและวิธีปฏิบัติขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO SARP) และเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ได้มีการกล่าวสรุปผลที่พบระหว่างการตรวจสอบให้ กพท.รับทราบ ผลปรากฏว่าพบข้อบกพร่อง 26 ข้อ โดยบางส่วนเป็นข้อบกพร่องที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขอยู่แล้ว ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ คือ ภายใน 60 วัน FAA จะส่งรายละเอียดผลการตรวจสอบอย่างเป็นทางการผ่านสถานทูตสหรัฐอเมริกามาให้ กพท. จากนั้น กพท.จะต้องแก้ไขข้อบกพร่องทั้งหมดให้เรียบร้อย และเมื่อมีความพร้อม สามารถส่งหนังสือไปถึง FAA อีกครั้งเพื่อขอรับการตรวจอย่างเป็นทางการ
หากประเทศไทยสอบผ่านการตรวจสอบจะสามารถยกระดับมาตรฐาน จาก Category 2 กลับเป็น Category 1 คือ ประเทศที่มีระบบการกำกับดูแลความปลอดภัยการบินพลเรือนได้ตามมาตรฐานของ FAA โดยจะมีผลให้สายการบินของประเทศไทยจะได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติการบินเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาได้ รวมทั้งการบินเข้าประเทศที่อ้างอิงผลการตรวจของ FAA เช่น เกาหลีใต้ จะสามารถทำการบินได้อย่างเสรี ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศของไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ FAA นำโดย Team Leader - Mr. Benjamin F Garrido และคณะรวม 4 คน ได้เข้ามาดำเนินการตรวจสอบทางเทคนิคเกี่ยวกับมาตรฐานการบินของประเทศไทย ในชื่อ International Aviation Safety Assessment (IASA) Technical Review ณ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 11-15 กุมภาพันธ์ 2562 รวม 5 วัน เพื่อสอบทานระบบการกำกับดูแลการบินพลเรือนของประเทศไทย ว่าได้ตามมาตรฐานและวิธีปฏิบัติขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO SARP) เฉพาะ Annex 1, 6 และ 8 หรือไม่ โดยอ้างอิงจาก IASA Checklist และเอกสารของ ICAO คือ ICAO Document 9734, Safety Oversight Manual, Part A.
นอกจากตรวจสอบที่สำนักงานของ กพท.แล้ว FAA ยังได้เยี่ยมชมทั้งการปฏิบัติการบินและการซ่อมบำรุงของผู้ประกอบการการบินที่มีใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) อีกด้วย