xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เกาะติด “ปลากัดไทย” สกัดต่างชาติฉกไปจดสิทธิบัตร

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ชุติมา” สั่งสำนักงานพาณิชย์ทั่วโลกดูแลการนำ “ปลากัดไทย” ไปจดสิทธิบัตรเพื่ออ้างความเป็นเจ้าของ หลัง ครม.มีมติให้เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ เผยยังได้เดินหน้าป้องกัน “โจรสลัดชีวภาพ” ฉกทรัพยากรพันธุกรรมไปใช้ประโยชน์ ดันกฎหมายสิทธิบัตรฉบับใหม่ออกมาคุ้มครองและกำหนดให้คนเอาไปใช้ต้องแบ่งปันผลประโยชน์

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้กำชับให้สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศให้เร่งประชาสัมพันธ์และแจ้งสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศต่างๆ เพื่อให้ทราบว่า ปัจจุบันปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำประจำชาติไทย ซึ่งไม่ควรมีบุคคลใดนำไปจดทะเบียนสิทธิบัตรเพื่ออ้างความเป็นเจ้าของ เพราะบางประเทศอนุญาตให้นำสัตว์ไปจดทะเบียนสิทธิบัตรได้ จึงต้องเฝ้าระวัง แม้ว่าจะมีกระบวนการคัดค้านและเพิกถอนการจดทะเบียนตามขั้นตอนของกฎหมายภายในประเทศนั้นๆ อยู่ แต่อาจจะเสียเวลาและมีปัญหา

“ชาวต่างชาติไม่สามารถนำปลากัดไทยไปจดทะเบียนสิทธิบัตรเพื่ออ้างความเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวได้ เพราะตามกฎหมายสิทธิบัตรไทยได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าสัตว์เป็นสิ่งที่ไม่สามารถขอรับสิทธิบัตรได้ แต่หากเป็นการคิดกรรมวิธีใหม่ เช่น กรรมวิธีใหม่ในการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ ก็สามารถนำมาขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรได้ ซึ่งผู้ประดิษฐ์หรือนักวิจัยไทยก็สามารถดำเนินการได้เช่นกัน แต่กรณีในต่างประเทศ มีบางประเทศให้จดได้ ก็ต้องตามดู และคัดค้านและขอให้เพิกถอนทันที หากมีใครนำปลากัดไปจดสิทธิบัตร”

ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญายังอยู่ในระหว่างดำเนินการเชื่อมโยงฐานข้อมูลทรัพยากรพันธุกรรมที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะสามารถนำไปใช้ประโยน์ในการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรเพื่อป้องกันปัญหาการลักลอบนำทรัพยากรพันธุกรรมของไทยไปใช้โดยไม่ชอบด้วย

น.ส.ชุติมากล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอร่าง พ.ร.บสิทธิบัตร (ฉบับที่..) พ.ศ. … ซึ่งได้รับความเห็นชอบในหลักการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2562 มีสาระสำคัญส่วนหนึ่งกำหนดให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่มีการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมต้องเปิดเผยแหล่งที่มาและการแบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่เจ้าของทรัพยากรพันธุกรรมนั้นในคำขอรับสิทธิบัตร เพื่อป้องกันปัญหาการขโมยทรัพยากรพันธุกรรมไปใช้ประโยชน์โดยไม่ชอบ หรือที่เรียกว่าปัญหาโจรสลัดชีวภาพ (Bio-Piracy)

นอกจากนี้ ยังเดินหน้าเจรจา เร่งรัด และผลักดันให้มีการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศด้านการคุ้มครองทรัพยากรทางพันธุกรรมภายใต้กรอบองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) โดยหากการเจรจาจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศดังกล่าวเป็นผลสำเร็จ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศและชุมชนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรพันธุกรรมเป็นอย่างมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น