xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เดินหน้าแก้ยา-ค่ารักษา รพ.เอกชนแพง สั่งติดราคา-ดูโครงสร้างต้นทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“พาณิชย์” เดินหน้าแก้ปัญหา “ค่ายาและเวชภัณฑ์-บริการทางการแพทย์” โรงพยาบาลเอกชนแพง จ่อออกประกาศ กกร.สั่งปิดป้ายแสดงราคาให้ผู้บริโภคได้รับรู้ก่อนตัดสินใจใช้บริการ ตั้งคณะทำงานดูโครงสร้างต้นทุนค่ารักษา ขีดเส้น 60 วัน ก่อนชงคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการดูแล พร้อมมอบสาธารณสุขประกาศให้ผู้บริโภครับรู้สิทธิ์ตัวเองในการซื้อยาข้างนอก

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ว่า กรมการค้าภายใน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) กำลังจะออกประกาศ กกร. กำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนปิดป้ายแสดงราคายาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ให้ชัดเจน ซึ่งเป็นมาตรการแรกที่จะนำมาใช้หลังจากได้กำหนดให้เป็นสินค้าและบริการควบคุม คาดว่าจะออกประกาศได้ภายในสัปดาห์หน้า

“ในการปิดป้ายแสดงราคาจะต้องทำให้ดูได้ง่าย อาจทำเป็นสมุดให้ไปเปิดดู หรือเอาไปใส่ไว้ในคอมพิวเตอร์ ในเว็บไซต์ หรือทำตู้คีออสก์ให้กดดู แต่ไม่ใช่ทำแล้วเอาไปแอบไว้ หรือเอาไปเก็บไว้หลังเคาน์เตอร์ เบื้องต้นในส่วนของยาให้เน้นรายการที่มีคนใช้เยอะๆ ก่อน อาจจะเริ่มที่ 1,000 รายการ แล้วค่อยขยับเพิ่มขึ้น เพราะยามีเป็นหมื่นรายการ รวมถึงค่าบริการทางการแพทย์ที่ต้องแสดงราคาให้ชัดเจนด้วยว่าเป็นค่าอะไรบ้าง ทั้งค่ารักษา และค่าบริการอื่นๆ” นายบุณยฤทธิ์กล่าว

นายบุณยฤทธิ์กล่าวว่า ยังได้แต่งตั้งคณะทำงาน มีนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน เพื่อพิจารณาโครงสร้างต้นทุนค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่ง เพราะโรงพยาบาลเอกชนมีระดับต่างกัน ตั้งแต่ 5 ดาว 4 ดาว ลงมาจนถึง 2-3 ดาว ต้นทุนการประกอบการก็อาจจะไม่เท่ากัน โดยให้เวลาในการพิจารณาภายใน 60 วัน และนำให้รายละเอียดที่ได้ทั้งหมดเสนอให้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณา เพื่อหามาตรการที่เหมาะสมในการดูแลต่อไป

ทั้งนี้ ยังได้มอบหมายให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพไปพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนประกาศสิทธิ์ให้ผู้บริโภคเห็นได้ชัดเจนที่จะขอใบสั่งยาและไปซื้อยาข้างนอก ถือเป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหายามีราคาแพงลงได้

สำหรับกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินที่ยังมีปัญหาในเรื่องการเข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชน กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่าผู้ป่วยฉุกเฉินจะสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ในทุกโรงพยาบาลใน 72 ชั่วโมงแรก แต่ก็มีการกำหนดเงื่อนไข ต้องเป็นผู้ป่วยในระดับสีแดงเท่านั้น ทำให้ผู้ป่วยในระดับสีเหลือง หรือสีเขียว ที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ถูกโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งไม่รับรักษา หรือรักษา แต่ยังมีค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขไปพิจารณาว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ป่วย

นอกจากนี้ ในการรักษาโรค โรงพยาบาลเอกชนจะต้องแจ้งให้ผู้ป่วยทราบก่อนว่าจะได้รับการรักษาอย่างไร มีค่าใช้จ่ายขนาดไหน โดยมีการยกตัวอย่างกรณีมีดบาด ผู้ป่วยต้องเสียค่าใช้จ่ายหลักหมื่นบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง หรือกรณีที่เข้าไปรักษาโรคหนึ่ง แต่มีการตรวจสอบพบเจอโรคอื่นเพิ่มเติมก็จะต้องแจ้งรายละเอียดการรักษาและค่าใช้จ่ายให้ชัดเจนด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น