xs
xsm
sm
md
lg

แอร์พอร์ตลิงก์เซตทีมส่งไม้ต่อ 3 สนามบิน-จัดงบปีละ 400 ล้าน ซ่อมรถ 9 ขบวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“แอร์พอร์ตลิงก์” เซตทีมครูฝึก 100 คน แยกเรียนรู้ระบบรถไฟฟ้าญี่ปุ่นเตรียมเดินรถสีแดง และถ่ายทอดความรู้ก่อนโอนให้เอกชน 3 สนาม ยอมรับสุดหินช่วงเปลี่ยนผ่าน 2 ปี ส่งต่อรถ 9 ขบวน จัดงบปีละ 400 ล้านบาทดูแลสภาพรถ

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เปิดเผยว่า ในปี 2562 และ 2563 จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่บริษัทฯ จะต้องเตรียมความพร้อมในการยกระดับบริษัท ไปเป็นผู้บริหารการเดินรถไฟสายสีแดง ในขณะเดียวกันจะมีการส่งต่อการบริหารเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ให้แก่เอกชนผู้บริหารโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยบริษัทฯ จะต้องทำหน้าที่ในการบริหารการเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์อย่างน้อยไปจนถึงเดือน ธ.ค. 2563

ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีนี้จะต้องเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรสำหรับการเดินรถสายสีแดง จำนวน 52 คน ในเดือน เม.ย.-ก.ย. 2562 จะส่งครูฝึกด้านการเดินรถและซ่อมบำรุง จำนวน 52 คน ไปเรียนรู้เทคโนโลยี ระบบรถไฟฟ้าญี่ปุ่น ตามสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้า เครื่องกล และจัดหาตู้รถไฟฟ้า เพื่อให้ทำหน้าที่ถ่ายทอดและฝึกอบรมพนักงานได้ก่อนเปิดสายสีแดงในปี 2564 ในขณะเดียวกันจะต้องเตรียมครูฝึกอีก 40 คน เพื่อถ่ายทอดความรู้ในการบริหารการเดินรถแอร์พอร์ลิงก์แก่เอกชนผู้บริหารรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน

ปัจจุบัน รถทั้ง 9 ขบวนสามารถให้บริการได้ หลังดำเนินงานซ่อมบำรุงใหญ่ (Overhaul) เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2562 ซึ่งจะเพิ่มความถี่ในการเดินรถจาก 10 นาทีเป็น 8.30 นาที ในเดือน เม.ย.นี้ จะเพิ่มการรองรับผู้โดยสาร ซึ่งรถ 9 ขบวนมีขีดความสามารถที่ 9 หมื่นคน/วัน จะเต็มขีดความสามารถใน 1 ปี-1 ปีครึ่ง ปัจจุบันมีปริมาณผู้โดยสารที่เฉลี่ย 8 หมื่นคน/วัน ตั้งเป้าเติบโตปี 2562 ที่ 6% หรือมีผู้โดยสารรวมที่ 25 ล้านคน เติบโตจากปีก่อนที่มี 23.7 ล้านคน

สำหรับขบวนรถนั้น ปัจจุบันมีระยะวิ่งที่ 2.4 ล้าน กม.ซึ่งมีกำหนดที่จะต้อง Overhaul อีกครั้งที่ระยะ 3.6 ล้าน กม. โดยประเมินจากค่าเฉลี่ยการวิ่งที่ ประมาณ 600 กม./วัน จะครบในอีก 4 ปีข้างหน้า และจะต้องมีการซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ในช่วงการใช้งานปีที่ 15 อีกด้วย โดยทั่วไปรถไฟฟ้าจะมีอายุการใช้งานถึง 30 ปี ซึ่งเป็นหน้าที่ของเอกชน 3 สนามบิน โดยหลังการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ลงนามสัญญา เอกชนจะต้องวางแผนเรื่องการดำเนินการซ่อมบำรุง เพราะการจัดหาอะไหล่ต้องดำเนินการล่วงหน้า รวมถึงแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถ เช่น การจัดหารถเพิ่ม การปรับปรุงตู้สัมภาระ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในปี 2562 ร.ฟ.ท.จ่ายค่าจ้างให้บริษัทฯ ในการเดินรถแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ประมาณ 320 ล้านบาท และค่าซ่อมบำรุงและจัดซื้ออะไหล่ ประมาณ 400 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้จากค่าโดยสารประมาณ 740 ล้านบาท จากพื้นที่เชิงพาณิชย์ 30 ล้านบาท

“บริษัทฯ ได้ทำสัญญาจ้างที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินขบวนรถและการสต๊อกอะไหล่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 3-4 ปีนี้ วงเงินค่าจ้างกว่า 10 ล้านบาท เพื่อให้รถมีสภาพสมบูรณ์ในการบริการและสำหรับส่งมอบ ถือเป็นช่วงที่ยากและท้าทายเพราะต้องเรียนรู้และให้บริการเดินรถไม่ให้มีปัญหาด้วย”

ส่วนการบริหารงานรถไฟฟ้าสายสีแดง บริษัทฯ ได้ตั้งคณะทำงานทำแผนงานและเตรียมความพร้อมทุกด้านต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพซึ่งจะปรับจากการรับจ้างเดินรถเป็นบริหารรายได้ค่าโดยสารและเชิงพาณิชย์ สายสีแดงมี 13 สถานี บริษัทจะได้บริหารพื้นที่ 10 สถานี ยกเว้นบางซื่อ ดอนเมือง รังสิต ที่ ร.ฟ.ท.จะบริหารเอง

สำหรับการติดตั้งราวกั้นสเตนเลสบนชั้นชานชาลาใน 7 สถานี ครบในเดือนนี้, สร้างบันไดเลื่อนระหว่างชั้นจำหน่ายตั๋ว และชั้นทางเดินเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีพญาไท ซึ่งเป็นตัวที่ 140 เสร็จ พ.ค.นี้, เร่งติดตั้งหัวอ่าน พัฒนาซอฟต์แวร์ระบบตั๋วร่วม เพื่อรองรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เวอร์ชัน 2.5 และบัตรแมงมุมใน พ.ค. 2562


กำลังโหลดความคิดเห็น