กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศลงพื้นที่แนะนำเกษตรกร โรงคั่ว ผู้ประกอบการกาแฟจังหวัดน่าน ใช้ประโยชน์จาก FTA ส่งออกหรือนำเข้าวัตถุดิบราคาถูกมาใช้ พร้อมหนุนผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ร่วมกับสมาคมกาแฟไทยลงพื้นที่พบปะเกษตรกร โรงคั่ว และผู้ประกอบการร้านกาแฟจังหวัดน่าน เพื่อแนะช่องทางการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ ในการขยายการส่งออกกาแฟไทยและผลิตภัณฑ์กาแฟของไทยออกสู่ตลาดโลก รวมทั้งโอกาสในการนำเข้าวัตถุดิบที่หลากหลายเพื่อนำมาใช้ในการต่อยอดให้กับอุตสาหกรรมกาแฟของไทย
โดยในการลงพื้นที่ พบว่า เกษตรกร โรงคั่ว และผู้ประกอบการร้านกาแฟในจ.น่าน มีการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็ง และสมาคมกาแฟไทยมีโครงการส่งเสริมการพัฒนากาแฟที่มีคุณภาพในพื้นที่ โดยเริ่มตั้งแต่การนำพันธุ์กาแฟมาให้เกษตรกรปลูก แนะนำวิธีการแต่งกิ่ง ปรับปรุงดิน ไปจนถึงวิธีการเก็บเกี่ยว แนะนำโรงคั่วที่รับซื้อเมล็ดกาแฟดิบจากเกษตรกรถึงวิธีเก็บรักษา การตาก ไปจนถึงการคัดแยกเมล็ดกาแฟ ก่อนนำไปส่งต่อให้โรงงานแปรรูปนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟ ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ มีผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จากเฉลี่ย 7 กิโลกรัมต่อต้น เป็น 14กิโลกรัมต่อต้น คุณภาพดีขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรและโรงคั่วมีรายได้สูงขึ้น
ส่วนผู้ประกอบการร้านกาแฟ แจ้งว่า ต้องการกาแฟที่มีคุณภาพดี มีความสม่ำเสมอ และมาจากแหล่งเพาะปลูกที่หลากหลายในจังหวัดต่างๆ เพื่อสร้างเรื่องราว และเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า รวมทั้งยังมีโครงการที่จะส่งเสริมอัตลักษณ์กาแฟน่าน โดยการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) และเชื่อมโยงกับเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ ซึ่งกรมฯ จะประสานกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้เข้ามาดูแลเรื่องนี้ต่อไป
ทั้งนี้ ในปี 2561 ไทยผลิตเมล็ดกาแฟดิบได้ 23,000 ตัน มีความต้องการใช้ถึง 95,000 ตัน และปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กาแฟ เช่น กาแฟ 3 in 1 และกาแฟสำเร็จรูป ติดอันดับ 6 ของโลก ส่วนใหญ่ส่งไปประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น สปป.ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ และจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ไทยมี FTA ด้วย และส่วนใหญ่ไม่เก็บภาษีนำเข้ากาแฟและผลิตภัณฑ์กาแฟจากไทย
นอกจากนี้ ไทยยังมีการเก็บภาษีนำเข้าเมล็ดกาแฟจากประเทศอาเซียน 5% และจากประเทศสมาชิก WTO อื่นๆ 30% ภายใต้โควต้า 5.25 ตันต่อปี และ 90% หากนำเข้าเกินโควตา จึงทำให้การนำเข้ากาแฟจากประเทศนอกอาเซียนมีต้นทุนสูง ผู้ประกอบการโรงคั่วจึงขาดเมล็ดกาแฟดิบที่หลากหลาย เพื่อนำมาผสมตามความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจำเป็นต้องร่วมกันพิจารณาหามาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์การค้าปัจจุบันต่อไป