xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เผยสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซียอนุมัติกฎถิ่นกำเนิดสินค้า GSP ฉบับใหม่ คาดส่งผลดีส่งออกไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“กรมการค้าต่างประเทศ” แจ้งข่าวดี สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซียได้อนุมัติกฎถิ่นกำเนิดสินค้าสำหรับการให้ GSP ฉบับใหม่ เผยไทยได้เฮ อัตราภาษีจะลดลง 25% จากอัตราปกติ แถมได้สิทธิใช้วัตถุดิบจาก EAEU เป็นเหมือนวัตถุดิบในประเทศได้ ทำให้สินค้าได้สิทธิ GSP ง่ายขึ้น ระบุจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 16 ม.ค.นี้เป็นต้นไป

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สภาคณะกรรมาธิการแห่งสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (The Council of the Eurasian Economic Commission) ซึ่งกำกับดูแลกฎระเบียบของกลุ่มสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union : EAEU) ที่ประกอบด้วยสมาชิก 5 ประเทศ ได้แก่ สหพันธรัฐรัสเซีย สาธารณรัฐเบลารุส สาธารณรัฐคาซัคสถาน สาธารณรัฐอาร์เมเนีย และสาธารณรัฐคีร์กีซ ได้อนุมัติกฎถิ่นกำเนิดสินค้าฉบับใหม่ สำหรับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) แก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 16 มกราคม 2562 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ภายใต้กฎถิ่นกำเนิดสินค้าฉบับใหม่นี้ ประเทศไทยได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าจาก EAEU ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้ คือ 1.) อัตราภาษีขาเข้า EAEU ได้รับการลดหย่อนลงร้อยละ 25 จากอัตราปกติ 2.) เกณฑ์การได้ถิ่นกำเนิดสินค้าที่จะได้รับสิทธิต้องได้มาโดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศที่รับสิทธิทั้งหมด (Wholly Obtained) หรือผ่านการแปรสภาพอย่างเพียงพอ (Sufficiently Processed) ก็ต่อเมื่อมูลค่าวัตถุดิบที่ไม่ได้ถิ่นกำเนิด (วัตถุดิบที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศที่ไม่ได้รับสิทธิหรือมีถิ่นกำเนิดไม่แน่ชัด) ต้องไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่าสินค้าส่งออก ณ ราคาหน้าโรงงาน (Ex-work Price) โดยสามารถนำวัตถุดิบที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศสมาชิก EAEU มานับรวมเป็นวัตถุดิบภายในประเทศผลิตเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายในประเทศกำลังพัฒนาจะถือว่าได้ถิ่นกำเนิด และสามารถได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีจาก EAEU ได้ 3.) เอกสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าสำหรับการขอใช้สิทธิฯ กำหนดให้ใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าForm A หรือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าบนเอกสารการค้า หรือเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้า ในกรณีที่สินค้ามีมูลค่าไม่เกิน 5,000 ยูโร

“จากการปรับปรุงหลักเกณฑ์ครั้งนี้ ประเทศไทยจะได้ประโยชน์เพิ่มเติมจากเกณฑ์ที่ให้นับรวมวัตถุดิบจากประเทศสมาชิก EAEU เป็นวัตถุดิบภายในประเทศได้ ถือเป็นการบูรณาการประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศผู้ให้สิทธิ GSP และประเทศผู้รับสิทธิ GSP กล่าวคือ ประเทศสมาชิก EAEU ได้รับประโยชน์จากการส่งออกวัตถุดิบให้แก่ประเทศผู้ได้รับสิทธิ และประเทศผู้ได้รับสิทธิสามารถนำวัตถุดิบไปสะสมถิ่นกำเนิดและผลิตสินค้าเพื่อส่งออกกลับมายังประเทศสมาชิก EAEU ได้” นายอดุลย์กล่าว

ในปี 2560 ที่ผ่านมา การขอใช้สิทธิ GSP เพื่อการส่งออกไป EAEU มีมูลค่า 140.55 ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2561 มีการขอใช้สิทธิ GSP เพื่อการส่งออกไป EAEU มูลค่า 142.94 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีมูลค่าการขอใช้สิทธิมากเป็นลำดับที่ 3 ของการใช้สิทธิ GSP ทุกระบบ รองจากสหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ โดยประเทศที่มีการขอใช้สิทธิ GSP เพื่อการส่งออกสูงสุดใน EAEU คือ รัสเซีย คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 90 สินค้าที่มีการขอใช้สิทธิ GSP ที่สำคัญ ได้แก่ ผัก/ผลไม้ปรุงแต่ง สับปะรดกระป๋อง ข้าวที่สีบ้างแล้ว/สีทั้งหมด ปลาทูน่ากระป๋อง/แปรรูป ข้าวโพดหวาน เดกซ์ทริน/โมดิไฟด์สตาร์ชอื่นๆ น้ำผลไม้/น้ำพืชผักอื่นๆ กุ้งแช่แข็ง ฝรั่ง มะม่วง มังคุด สด/แห้ง ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น