xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เจรจากฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ FTA ไทย-ศรีลังกา สร้างโอกาสค้าขายให้ผู้ส่งออกไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมการค้าต่างประเทศเดินหน้าเจรจาจัดทำกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ FTA ไทย-ศรีลังกา ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ส่งออกไทย พร้อมแนะศึกษาแนวทางการใช้ประโยชน์ล่วงหน้า หลัง 2 ชาติตั้งเป้าปิดการเจรจาให้ได้ภายในปี 63 ชี้ไทยยังมีโอกาสเข้าไปลงทุนเพื่อเจาะตลาดยุโรปโดยใช้สิทธิ GSP ได้อีกด้วย

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เข้าร่วมการประชุมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ศรีลังกา โดยรับผิดชอบในส่วนของคณะทำงานกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าร่วมกับกรมศุลกากร เพื่อพิจารณากฎและระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ความตกลงฯ ที่จะช่วยสร้างแต้มต่อให้ผู้ประกอบการไทยในการค้าขายกับศรีลังกา โดยจะมีการประชุมครั้งที่ 3 ในช่วงเดือน ม.ค. 2562 ที่ประเทศศรีลังกา

ทั้งนี้ หากมีความคืบหน้ากรมฯ จะนำรายละเอียดมาชี้แจงให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกของไทยได้รับทราบ เพื่อที่จะได้ศึกษาแนวทางการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสร้างแต้มต่อให้สินค้าส่งออกไทยเข้าสู่ตลาดศรีลังกาในอนาคต เพราะทั้ง 2 ประเทศได้ตั้งเป้าที่จะเจรจา FTA ให้จบภายในปี 2563

นายอดุลย์กล่าว่า การทำ FTA จะช่วยสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้กับไทย เพราะปัจจุบันศรีลังกาได้ GSP Plus จากสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นสิทธิพิเศษทางภาษีที่ให้แก่ประเทศที่มีความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศเหล่านั้นจะต้องให้สัตยาบันและปฏิบัติตามเงื่อนไขของสหภาพฯ ในการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม แรงงาน และหลักธรรมาภิบาล โดยสินค้าของศรีลังกาที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีนำเข้าไปสหภาพยุโรป ได้แก่ สิ่งทอ เครื่องจักรขนาดเล็ก ผัก ผลไม้สดและแปรรูป อาหารทะเล เป็นต้น จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะส่งออกสินค้าไปผลิตต่อในศรีลังกาแล้วใช้ประโยชน์ทางภาษีส่งออกไปสหภาพยุโรป หรือจะเข้าไปลงทุนในศรีลังกาและใช้เป็นฐานในการผลิตที่สำคัญในการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในอดีตศรีลังกาเคยถูกตัดสิทธิฯ GSP เมื่อปี 2553 โดยในขณะนั้นศรีลังกาพึ่งพิงตลาดยุโรปเป็นหลักในการส่งสินค้าออก เมื่อถูกตัด GSP จึงได้รับผลกระทบ ดังนั้น รัฐบาลศรีลังกาได้ประกาศวิสัยทัศน์ 2025 วางเป้าหมายเป็นฮับของมหาสมุทรอินเดียด้วยการเปิดรับการลงทุนจากนานาประเทศ และเร่งดำเนินความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศแถบภูมิภาคเอเชียมากยิ่งขึ้น จึงเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปลงทุน

สำหรับศรีลังกา เป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจ เนื่องจากมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด เฉลี่ย 5% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และประชากรมีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชียใต้ รองจากมัลดีฟส์ เป็นคู่ค้าของไทยในเอเชียใต้ที่มีมูลค่าการค้าสูงเป็นอันดับ 4 โดยการค้าไทย-ศรีลังกาในปี 2560 มีมูลค่ารวม 512.77 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.13% เป็นการส่งออกจากไทยมูลค่า 441.51 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น1.73%

สินค้าส่งออกที่สำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ ปลาแห้งและส่วนต่างๆ แห้ง ใส่เกลือหรือรม ผ้าผืน น้ำตาลทราย รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขณะเดียวกัน ไทยนำเข้าจากศรีลังกามูลค่า 71.26 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 77.30% สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เสื้อผ้าสำเร็จรูป สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งแปรรูป เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และอุปกรณ์ยานยนต์ ผ้าผืน ลวดและสายเคเบิล เครื่องประดับอัญมณี ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าจำนวน 370.25 ล้านเหรียญสหรัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น