xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ใช้จังหวะช่วงเป็นประธานอาเซียน ดัน 2 โครงการอำนวยความสะดวกทางการค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมการค้าต่างประเทศใช้จังหวะไทยเป็นประธานอาเซียน เร่งขับเคลื่อนระบบอำนวยความสะดวกทางการค้า 2 โครงการหลัก "ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน และระบบแลกเปลี่ยนหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์" เพื่อลดต้นทุน และอำนวยความสะดวกในการค้าขายในอาเซียน เผยยังมีแผนจัดกิจกรรมสร้างโอกาสทางการค้าอีกเพียบ ทั้งมหกรรมการค้าชายแดนและ YEN-D

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ จะใช้โอกาสในการที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 ผลักดันประเด็นด้านเศรษฐกิจที่อยู่ในความรับผิดชอบให้สำเร็จ โดยเฉพาะการปรับปรุงการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับผู้ประกอบการ และผู้ส่งออกของไทยที่จะส่งสินค้าและใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ได้แก่ การจัดทำระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (ASEAN Wide Self Certification: AWSC) และระบบการแลกเปลี่ยนหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) แบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form D) ภายใต้ระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (ASEAN Single Window: ASW)

"ทั้ง 2 ระบบนี้จะเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการในการขอใช้สิทธิพิเศษทางภาษี ณ ประเทศปลายทางในกลุ่มอาเซียน จากเดิมที่ต้องใช้เอกสาร Form D ที่เป็นกระดาษเท่านั้น ไปประกอบการดำเนินพิธีการทางศุลกากรเพื่อขอลดหย่อน/ยกเว้นภาษี ณ ประเทศปลายทางที่นำเข้าสินค้า โดยระบบดังกล่าวทั้ง 2 รูปแบบนี้ จะช่วยลดต้นทุนและเวลาในการดำเนินการให้แก่ภาคเอกชน ส่งผลให้เกิดความสะดวกในการทำการค้าระหว่างกันภายในอาเซียนมากขึ้น และการอำนวยความสะดวกที่เพิ่มขึ้นในอาเซียน ยังช่วยดึงดูดความสนใจในการลงทุนจากประเทศอื่นๆ ให้มาลงทุนในอาเซียนได้มากขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย"

นายอดุลย์กล่าวว่า ปัจจุบันระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง อยู่ระหว่างการดำเนินการภายใต้โครงการนำร่อง 2 โครงการ (Pilot Project) โดยประเทศที่เข้าร่วมโครงการฯ และระเบียบปฎิบัติในการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ 2 โครงการดังกล่าวยังมีความแตกต่างกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำระบบการรับรองฯ ดังกล่าวให้เป็นระบบเดียวกันทั้ง 10 ประเทศ โดยเร่งรัดการแก้ไขระเบียบปฏิบัติฯ ให้เป็นหลักการเดียวกัน

สำหรับระบบ e-Form D ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการเริ่มแลกเปลี่ยนเอกสารดังกล่าวกับ 4 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ผ่านระบบ ASW ตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ส่งออกของไทยที่ประสงค์จะส่งออกสินค้าโดยขอหนังสือรับรองฯ e-Form D แทนการขอ Form D แบบกระดาษ สามารถส่งข้อมูลผ่านระบบของกรมฯ ได้ โดยใช้วิธีการและช่องทางเดียวกับกับการขอ Form D แบบกระดาษ แต่เมื่อหนังสือรับรองฯ ผ่านการอนุมัติแล้ว ไม่จำเป็นต้องเดินทางมารับเอกสารที่กรมฯ โดยผู้ส่งออกสามารถตรวจสอบสถานะผลการอนุมัติได้จากหน้าจอของระบบกรมฯ หากสถานะอนุมัติแล้ว จะปรากฏหมายเลขที่อ้างอิง (Reference Number) ซึ่งจะใช้ในการแจ้งผู้นำเข้าปลายทาง เพื่อไปใช้ดำเนินการพิธีการทางศุลกากรเพื่อนำเข้าสินค้า และขอใช้สิทธิยกเว้น/ลดหย่อนภาษีศุลกากร ณ ประเทศปลายทาง ต่อไปได้

นายอดุลย์กล่าวว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนได้วางเป้าหมายร่วมกันว่าจะให้ระบบการอำนวยความสะดวกทางการค้า ทั้ง 2 ระบบดังกล่าว มีความคืบหน้าและสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้มากขึ้นในปีหน้า โดยสำหรับระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองฯ อาเซียนตั้งเป้าหมายที่จะปรับระเบียบปฏิบัติฯ และสามารถบังคับใช้ร่วมกันได้ทั้ง 10 ประเทศได้ ภายในปี 2562 ซึ่งหากระเบียบปฏิบัติแล้วเสร็จ กรมฯ จะต้องเตรียมออกประกาศกรมฯ เพื่อกำหนดระเบียบในการรับขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกที่ได้รับสิทธิในการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตัวเอง (Certified Exporter) ต่อไป และสำหรับ e-Form D คาดว่าในปีหน้าจะมีประเทศสามารถเข้าร่วมการแลกเปลี่ยนได้มากขึ้น เช่น บรูไน กัมพูชา และฟิลิปปินส์ ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบการส่งข้อมูลผ่านระบบ ASW

นอกจากนี้ ภารกิจงานของกรมฯ ในส่วนอื่นๆ ที่เตรียมแผนไว้ดำเนินการเพื่อช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนในอาเซียน ในปี 2562 ยังมีอีกหลายกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น งานมหกรรมการค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านใน 4 ภูมิภาคของไทย งานสัมมนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการการค้าชายแดนและเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตลอดจนโครงการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือ YEN-D ซึ่งที่ผ่านมา กรมฯ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง ในการสร้างเครือข่ายในประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ เช่น สปป.ลาว พม่า เวียดนาม และกัมพูชา ทั้งนี้ ในปี 2562 จะมีการขยายเครือข่ายดังกล่าวไปยังประเทศอาเซียนอื่นๆ เพิ่มเติม (YEN-D PLUS) อีก 2 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย


กำลังโหลดความคิดเห็น