xs
xsm
sm
md
lg

กทพ.จบปัญหาข้อพิพาท BEM ต่อสัมปทานทางด่วนให้ 37 ปี ปิดบัญชีค่าชดเชยแสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บอร์ด กทพ. ถก BEM ต่อสัมปทาน 37 ปี แลกยุติข้อพิพาทและปิดบัญชี หนี้ค่าชดเชยกว่าแสนล้าน จบปัญหาพิพาท “สุรงค์” ชี้ เป็นทางออกที่ดีสุดเอกชนต้องลงทุนสร้างทางด่วนชั้น 2 แก้จราจรและยืดเวลาปรับค่าผ่านทางเป็นทุกๆ 10 ปี เร่งชงคมนาคม และ สคร. และ กก. PPP อนุมัติ



นายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการ คณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังประชุมบอร์ด กทพ. วันที่ 20 ธ.ค. ว่า บอร์ดได้หารือถึงแนวทางดำเนินการของ กทพ. กรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ ให้ กทพ. จ่ายเงินชดเชยแก่บริษัท
ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด ปัจจุบันคือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM พร้อมดอกเบี้ยรวมเป็นเงินประมาณ 4,200 ล้านบาท กรณีมีการสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ-รังสิต เป็นทางแข่งขัน และกรณีข้อพิพาท การปรับค่าผ่านทาง ซึ่งมีวงเงินรวม กันประมาณ 1.3 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ บอร์ด กทพ. ได้เชิญผู้แทน BEM เข้าร่วมหารือด้วย ซึ่งการเจรจามีเงื่อนไขและแนวทางเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตร (ครม.) เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 61 ให้พิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาภาระหนี้ ให้ กทพ. เจรจากับ เอกชน ซึ่ง กทพ. มีทางเลือกจำกัด ระหว่างการจ่ายเงินชำระหนี้เอกชน ซึ่งมีมูลค่าสูง และการขยายเวลาสัมปทาน โดยได้ข้อสรุปในการเจรจาได้ทางออกร่วมกันที่ดี คือ การขยายอายุสัญญาสัมปทาน ทางด่วนขั้น 2 ออกไปอีก 37 ปี โดยสัญญาสัมปทานเดิมจะสิ้นสุด ในเดือน ก.พ. 2563

โดยมีเงื่อนไขว่า จะยุติข้อพิพาทและภาระหนี้ทั้งหมดเป็นศูนย์, ปรับสูตรการพิจารณาปรับค่าผ่านทางใหม่เป็นปรับทุกๆ 10 ปี ในอัตรา 10 บาท ซึ่งเปลี่ยนจากเดิมที่คำนวณตามดัชนีผู้บริโภค (CPI) และมีปัญหาพิพาทการปัดเศษ ขึ้นหรือลง, เอกชนต้องก่อสร้างทางเพิ่มเป็นทางด่วนขั้นที่ 2 จากอโศก-ประชาชื่น ระยะทาง 17 กม. วงเงินลงทุนประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท เพื่อระบายรถและแก้ปัญหาจราจร โดยไม่มีการเก็บค่าผ่านทางเพิ่ม ซึ่งจะย่นเวลาการเดินทางในช่วงดังกล้าวจาก 1 ชม. เหลือ 20 นาที, ต้องก่อสร้างแลมป์ขึ้นลงเพิ่มเติมในจุดที่มีปัญหาจราจร ซึ่งคาดว่าเอกชนจะลงทุนรวมเกือบ 4 หมื่นล้านบาท

โดยในสัญญา 37 ปี จะแบ่งรายได้ให้ กทพ. ที่สัดส่วน 60 ส่วนเอกชนได้ 40 ทั้งนี้ กทพ. จะสรุปแนวทางนำเสนอกระทรวงคมนาคมภายในเดือน ธ.ค. นี้ เพื่อเสนอตามขั้นตอนไปที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และ คณะกรรมการ PPP เห็นชอบ และ เสนอ ครม. ต่อไป

“กทพ. มีทางเลือกไม่มาก ซึ่งแนวทางที่เจรจาเป็นทางออกที่ดีที่สุด คือ กทพ. ได้ประโยชนืเหมือนเดิม, รัฐไม่เสียประโยชน์, เอกชนอยู่ได้และประชาชนได้ประโยชน์” นายสุรงค์ กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า แนวทางที่ กทพ. จ่ายชดเชยตามคำสั่งศาลเอง เฉพาะเรื่องทางแข่งขัน 4,200 ล้านบาท เป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ กทพ. ยังมีข้อพิพาทที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดแล้ว เรื่องการปรับค่าผ่านทาง ปี 2546 ซึ่งคดียังอยู่ที่ วงเงิน 4,600 ล้านบาท ยังมี ล่าสุด ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 63/2556 หมายเลขแดงที่ 128/2561 ระหว่างบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้เรียกร้อง กทพ. ผู้คัดค้าน (การปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษปี 2551) ที่อนุญาโตตุลาการ มีคำสั่งชี้ขาด ให้ กทพ. ชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัทวงเงินกว่า 9,000 ล้านบาท


นายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการ คณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)


กำลังโหลดความคิดเห็น