xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เผยเจรจา FTA ไทย-ตุรกีคืบหน้า ตกลงกรอบได้แล้ว 5 เรื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“พาณิชย์” แจ้งผลการเจรจา FTA ไทย-ตุรกี รอบที่ 4 ตกลงทำกรอบเจรจาได้แล้ว 5 เรื่อง ทั้งการค้าสินค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า มาตรการสุขอนามัย การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน และการปกป้องทางการค้า รวมถึงประเด็นทางกฎหมาย เผยยังได้กำหนดให้มีแลกเปลี่ยนข้อเสนอการเปิดตลาดสินค้าในช่วงต้นปีหน้า และนัดประชุมครั้งต่อไปเดือน เม.ย. 62

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทย-ตุรกี รอบที่ 4 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 12-14 ธ.ค. 2561 ว่า ในการประชุมครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงร่วมกันในการจัดทำกรอบการเจรจาได้ใน 5 เรื่อง ได้แก่ 1. การค้าสินค้า 2. กฎถิ่นกำเนิดสินค้า ที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการคำนวณและสะสมถิ่นกำเนิดสินค้า 3. มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช เช่น ขอบเขตการใช้มาตรการและการประเมินความเสี่ยง 4. มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน และมาตรการปกป้องทางการค้า และ 5. ประเด็นด้านกฎหมาย เช่น กลไกการหารือสองฝ่ายเพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติตามพันธกรณีเมื่อความตกลง FTA มีผลใช้บังคับ และกลไกการระงับข้อพิพาททางการค้า เป็นต้น ส่วนในเรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้หรือมีความเห็นต่างกัน ให้พยายามหาทางออกในการประชุมรอบที่ 5 ที่ตุรกีจะเป็นเจ้าภาพในเดือน เม.ย. 2562

ทั้งนี้ ในด้านการเปิดตลาดสินค้ามีความคืบหน้าที่สำคัญ โดยทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงรูปแบบการลดเลิกภาษีศุลกากรสินค้าระหว่างกันได้แล้ว และจะใช้เป็นพื้นฐานในการแลกเปลี่ยนข้อเสนอการเปิดตลาดในช่วงต้นปี 2562 ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะนำกลับไปพิจารณาและนำกลับมาหารือกันอีกครั้งในการประชุมรอบถัดไป

สำหรับตุรกีถือเป็นตลาดใหญ่และตลาดใหม่ของไทย มีประชากรกว่า 80 ล้านคน ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ อยู่ตรงกลางระหว่างตลาดยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ โดยในปี 2560 ตุรกีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 36 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 1,517.39 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.4% เป็นการส่งออกจากไทยไปตุรกีมูลค่า 1,266.46 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้าจากตุรกีมูลค่า 250.94 ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วง 10 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-ต.ค.) การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 1,233.14 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยส่งออกไปตุรกี963.18 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากตุรกี 269.96 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนสินค้าศักยภาพของไทยที่ส่งออกไปยังตุรกีในรอบปีที่ผ่านมา เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ยางพารา เส้นใยประดิษฐ์ และผลิตภัณฑ์ยาง ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูปเครื่องประดับอัญมณี เคมีภัณฑ์ ลวดและสายเคเบิล เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น