“พาณิชย์” แก้ปัญหาค่ายา ค่ารักษาพยาบาลสูงเกินจริง ดึงโรงพยาบาลเอกชนกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ เผยแพร่ค่ายากว่า 1,000 รายการ รวมถึงค่ารักษา ผ่านเว็บไซต์ตัวเองและเว็บไซต์กลาง ให้ประชาชนเปรียบเทียบราคาก่อนตัดสินใจใช้บริการ เริ่ม 13 เม.ย. 62 รับสั่งลดราคาไม่ได้ เหตุต้นทุนซื้อยาแพงกว่าโรงพยาบาลรัฐ
นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้กรมฯ ได้หารือร่วมกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และตัวแทนผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชน เพื่อหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาค่ายาและค่ารักษาพยาบาลสูงเกินจริงตามที่มีประชาชนร้องเรียนมา ซึ่งผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมมีประมาณ 100 กว่าแห่งทั่วประเทศ เห็นด้วยในหลักการที่จะร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยจะมีการเผยแพร่ราคายาที่จำเป็นและค่ารักษาพยาบาลผ่านทางเว็บไซต์กลางและเว็บไซต์ของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่ง เพื่อให้ประชาชนได้เปรียบเทียบราคาและตัดสินใจเข้ารับการรักษา
โดยแนวทางที่ใช้แก้ไขปัญหาจะนำข้อมูลราคายาที่จำเป็นซึ่งมีประมาณ 1,000 กว่ารายการ จากทั้งหมด 5,000 กว่ารายการ และค่ารักษาพยาบาลมาเผยแพร่บนเว็บไซต์ แต่จะนำตัวที่จำเป็นเท่านั้นมาเผยแพร่ เพราะเมื่อนำข้อมูลที่เคยอยู่ในลิ้นชักมาเปิดเผย จะทำให้ประชาชนรับทราบราคายาและค่ารักษาพยาบาล ทำให้เกิดการเปรียบเทียบ และในที่สุดโรงพยาบาลเอกชนจะไม่กล้าคิดราคายาและค่ารักษาพยาบาลที่แพงเกินความเหมาะสม
ทั้งนี้ ขั้นตอนต่อไป กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารสุข จะไปหารือกับโรงพยาบาลเอกชนว่าจะนำรายการตัวใดมาเผยแพร่ขึ้นเว็บไซต์บ้าง และจะนำกลับมาเสนอที่ประชุมที่กระทรวงพาณิชย์จะเป็นเจ้าภาพในวันที่ 15 ม.ค. 2562 รวมถึงบริการค่ารักษาด้วย และยังได้กำชับว่าข้อมูลที่นำมาเผยแพร่ ต้องง่ายต่อความเข้าใจ โดยกำหนดวันที่จะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์กลางและเว็บไซต์ของโรงพยาบาลเอกชนอย่างเป็นทางการในวันที่ 13 เม.ย. 2562 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ไทยให้กับประชาชน ส่วนที่ต้องใช้เวลาในการลิสต์รายชื่อยานาน เพราะเป็นเรื่องเทคนิค
อย่างไรก็ตาม กรมฯ คงไม่สามารถบังคับให้โรงพยาบาลเอกชนลดราคาค่ายาหรือค่ารักษาพยาบาลลงมาได้ เพราะต้นทุนไม่เหมือนกัน เช่น บริษัทยาจะจำหน่ายยาให้กับโรงพยาบาลรัฐบาลในต้นทุนที่ไม่เท่ากับโรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากโรงพยาบาลรัฐบาลมีจำนวนมากกว่าครอบคลุมทั้งประเทศ ทำให้ได้ต้นทุนราคายาถูกกว่า แต่โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งไม่มีสาขา บางแห่งมีสาขาแค่ 2-3 แห่ง การซื้อยาจากบริษัทยาหรืออุปกรณ์เกี่ยวกับการแพทย์จะได้รับต้นทุนที่ต่างกับโรงพยาบาลรัฐ เพราะไม่เช่นนั้นบริษัทยาก็ต้องจำหน่ายยาให้โรงพยาบาลเอกชนเท่ากับโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งจะไม่ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนายาและการรักษาในอนาคต