xs
xsm
sm
md
lg

“โทลล์เวย์”ทุ่ม300ล.ติดกล้องอัจฉริยะ ปรับด่านเก็บเงินรับบัตร M -Pass และ Easy Pass

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ดอนเมืองโทลล์เวย์เปิดแผนลงทุน 300ล. พัฒนา Smart Project ติดตั้งกล้อง CCTV อัจฉริยะที่มาพร้อม AI ช่วยยกระดับการบริหารจราจรและความปลอดภัยแบบ Real Time พร้อมยกเครื่องระบบเก็บค่าผ่านทาง เตรียมรับใช้งานร่วมบัตร M -Pass และ Easy Pass ตั้งเป้าเสร็จในปี 63 ขณะที่ปริมาณจราจรปี 61 เติบโต3%
นายศักดิ์ดา พรรณไวย รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจและการเงิน บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัท มีแผนธุรกิจในการนำระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของทางยกระดับ ซึ่งจะดำเนินการระยะ 3 ปี (2561-2563) งบลงทุนรวม 900 ล้านบาทประกอบด้วย 4 โครงการ ได้แก่ 1. Smart Project การใช้เทคโนโลยีกล้อง CCTV กล้องอัจฉริยะ ใช้ซอฟต์แวร์ AI (ปัญญาประดิษฐ์) ช่วยในการบริหารการจราจรบนทางยกระดับ ให้สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูงสุด ลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท
โดยในปี 2561 เป็นการก่อสร้างห้องควบคุมและระบบหลังบ้าน ปี 2562 จะติดตั้ง CCTV กล้องอัจฉริยะและป้ายอัจฉริยะ บอกระยะเวลาในการเดินทาง และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง โดยเป้าหมายจะเพิ่ม CCTV จากปัจจุบัน 40 ตัว (1 กม.ต่อ CCTV 2 ตัว ครอบคลุม 2 ทิศทาง) เป็นเกือบ 300 ตัว เนื่องจากจะปรับระยะ300-500 เมตรต่อ2 ตัว ( 2ทิศทาง) ซึ่งใกล้เคียงกับระบบทางด่วนของญี่ปุ่น และในปี 2563 จะเป็นการทดสอบระบบและใข้งานอย่างเต็มรูปแบบ
“ดอนเมืองโทลล์เวย์มีระยะทาง 21 กม. ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบกล้องวงจรปิดตลอด 24 ชม. กรณีเกิดเหตุรถจอดเสีย หรือมีสิ่งแปลกปลอมตกหล่นบนทาง จะใช้เวลาระยะหนึ่งที่จะตรวจพบหรือได้รับการแจ้งจากผู้ใช้ทาง ขณะที่กล้องอัจฉริยะที่มาพร้อม AI ระบบจะแจ้งเตือนได้ภายใน 3-5 วินาที ซึ่งจะ Real Time มากขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือได้รวดเร็วมากขึ้น บริษัทใช้พนักงานเท่าเดิม แต่การทำงานจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
2. ปรับปรุงระบบจัดเก็บค่าผ่านทางแบบ Manual Toll Collection System (MTC) จัดซื้ออุปกรณ์ใหม่เพื่อทดแทนระบบเดิม ใช้เงินลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากระบบและอุปกรณ์ด่านเก็บค่าผ่านทาง ใช้งานมากว่า 30 ปี ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการซ่อมบำรุงตามระยะ ขณะที่ปัจจุบัน เทคโนโลยีมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้การจัดเก็บค่าผ่านทางยังเป็นระบบmanual ที่มีพนักงานประจำตู้เหมือนเดิม
3. จัดเตรียมซอฟต์แวร์เพื่อรองรับการจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ (ETC) เพื่อให้ด่านของดอนเมืองโทลล์เวย์ สามารถรองรับบัตร M-Pass ของกรมทางหลวง (ทล.) และบัตร Easy Pass ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ ซึ่งคาดว่าจะลงทุนไม่เกิน 100 ล้านบาท โดยจะต้องหารือร่วมกับ กรมทางหลวง,กทพ.และกระทรวงคมนาคมในรายละเอียด เพื่อออกแบบและได้รับอนุมัติจากภาครัฐในการเชื่อมต่อ และระบบหลังบ้าน
4. ปรับปรุงกายภาพสายทาง พื้นผิวทาง แก้ปัญหาคอขวด ขยายช่องจราจร ปรับปรุงด่าน เป็นต้น ลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท
สำหรับปี 2561 มีปริมาณจราจรบนดอนเมืองโทลล์เวย์ เฉลี่ย 1 แสนคัน/วัน เติบโตจากปีก่อน 2-3 % ซึ่งต่ำกว่าประมาณการณ์ที่คาดว่าปริมาณจราจรจะเติบโต5% ส่งผลให้รายได้ในปี 2560 เติบโตตามปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้การเติบโตของปริมาณจราจรบนโครงข่ายทางด่วนชั้นในกทม. อยู่ที่ประมาณ 0.5% เท่านั้น ส่วนทางด่วนระหว่างเมือง เช่น มอเตอร์เวย์ จะเติบโต7-8%
ขณะที่ปี 2560 มีรายได้รวม 3,030 ล้านบาท มีกำไร 1,398 ล้านบาท สำหรับอุบัติเหตุบน โครงข่ายดอนเมืองโทลล์เวย์มีเฉลี่ยประมาณ 200 ครั้ง/ปี ไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเหตุรถชนท้ายกัน
นายศักดิ์ดา พรรณไวย รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจและการเงิน บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน)


กำลังโหลดความคิดเห็น