กรมทรัพย์สินทางปัญญายืนยันรับพิจารณาคำร้องคัดค้านการจดสิทธิบัตรยาต้านไวรัสเอชไอวีและยารักษาไวรัสตับอักเสบซีตามที่มูลนิธิเข้าถึงเอดส์เรียกร้องมาโดยเร็ว หลังล่าสุดมีผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรเพิ่มขึ้น พร้อมเร่งเพิ่มประสิทธิภาพระบบสืบค้นข้อมูลสิทธิบัตรให้ประชาชน ผู้มีส่วนได้เสียตรวจสอบได้ง่ายขึ้น
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยถึงกรณีที่มูลนิธิเข้าถึงเอดส์มีข้อเสนอแนะให้เร่งพิจารณาคำคัดค้านการขอรับสิทธิบัตรยาต้านไวรัสเอชไอวีและยารักษาไวรัสตับอักเสบซี และให้แก้ไขปัญหาระบบฐานข้อมูลสิทธิบัตรให้สะดวกรวดเร็วขึ้นว่า กรมฯ ได้รับทราบข้อเสนอแนะทั้งหมดแล้ว และพร้อมที่จะพิจารณาคำคัดค้านการจดสิทธิบัตรให้เร็วขึ้น โดยยืนยันว่ากรมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจในข้อกังวลของมูลนิธิฯ เพียงแต่ที่ผ่านมากรมฯ มีข้อจำกัดในเรื่องการพิจารณาคำคัดค้าน เนื่องจากจำนวนบุคลากรในการทำหน้าที่พิจารณาคำคัดค้านและการขอรับสิทธิบัตรมีจำนวนจำกัดและไม่เพียงพอต่อปริมาณคำขอที่เพิ่มขึ้น และในการพิจารณาคำคัดค้านยังต้องพิจารณาข้อกฎหมายและข้อมูลเอกสารทั้งในส่วนของผู้คัดค้านและผู้ขอรับสิทธิบัตรอย่างรอบคอบด้วย
“กรมฯ มีบุคลากรจำกัด ขาดแคลนผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรที่มีความรู้ความชำนาญในสาขาเภสัชกรรม แต่หลังจากที่รัฐบาลได้เพิ่มอัตรากำลังผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรให้กับกรมฯ เมื่อเดือน เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา กรมฯ ได้เร่งพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตร ตลอดจนคำคัดค้านการจดสิทธิบัตรให้มีประสิทธิภาพ และรวดเร็วได้มากยิ่งขึ้น ส่วนคำคัดค้านของมูลนิธิฯ กรมฯ จะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็วเช่นกัน และยินดีรับข้อมูลเอกสารทางวิชาการต่างๆ ที่มูลนิธิฯ ได้ยื่นหลังประกาศโฆษณามาประกอบการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรอย่างรอบด้าน เพื่อนำไปพิจารณาร่วมกับข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ด้วย”
ส่วนประเด็นการแจ้งข้อมูลการจดสิทธิบัตรยาต้านไวรัสเอชไอวี และยา Tenofovir Alafenamide Fumarate (TAF) กรมฯ ได้ตอบและแจ้งความคืบหน้าการจดสิทธิบัตรกลับไปทุกครั้ง และยังได้พัฒนาให้มีระบบสืบค้นข้อมูลสิทธิบัตรที่ประชาชนทั่วไป ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลคำขอรับสิทธิบัตรผ่านเว็บไซต์กรมฯ (http://patentsearch.ipthailand.go.th/DIP2013/simplesearch.php) เช่น ประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตร และข้อถือสิทธิ เป็นต้น
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้พัฒนาระบบสืบค้นข้อมูลสิทธิบัตรออนไลน์ (Search Patent System) ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับคำขอรับสิทธิบัตร เช่น การแยกรหัสหมวดยาและเวชภัณฑ์ (รหัส A61K) และข้อมูลบรรณานุกรม (Bibliography) เกี่ยวกับรายละเอียดเบื้องต้นของคำขอรับสิทธิบัตร และในปีงบประมาณ 2562 จะเร่งพัฒนาระบบสืบค้นข้อมูลสิทธิบัตรดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเพิ่มรายละเอียดเกี่ยวกับการประดิษฐ์ข้อถือสิทธิ และรูปเขียนให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อให้นักวิจัยและผู้ประกอบการตลอดจนผู้สนใจเข้าถึงข้อมูลคำขอสิทธิบัตรและใช้ประโยชน์ในการพัฒนาต่อยอดได้สะดวกยิ่งขึ้น