xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิเอดส์บุก “พาณิชย์” ขอคำตอบยื่นค้านจดสิทธิบัตรยาต้านเอชไอวี-ไวรัสตับอักเสบซี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“มูลนิธิเข้าถึงเอดส์” นำเครือข่ายบุกร้องกรมทรัพย์สินทางปัญญา จี้ให้ชี้แจงการพิจารณาคำคัดค้านการจดสิทธิบัตรต้านไวรัสเอชไอวี และไวรัสตับอักเสบซีที่ล่าช้ากว่า 3 ปี ยังไม่มีคำตอบ เปิดโอกาสให้ผู้ขออ้างได้ว่ายาได้สิทธิบัตรตามกฎหมาย ทำคนอื่นผลิตยาแข่งไม่ได้ ยาราคาแพงขึ้น และผู้ป่วยเข้าถึงยาได้ยากขึ้น ย้ำการคัดค้านเหตุ 5 คำขอ ไม่ใช่ยาใหม่ เผยข้อมูลยังสุดมั่ว บอกไม่มีคนยื่นจด แต่ปล่อยประกาศโฆษณาเฉยเลย

นายนิมิตร์ เทียมอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เปิดเผยว่า ได้เดินทางมาติดตามคำตอบจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา หลังจากที่ได้ยื่นคัดค้านคำขอสิทธิบัตรยาต้านไวรัสเอชไอวี และยารักษาไวรัสตับอักเสบซี รวม 5 คำขอ มาตั้งแต่ปี 2558 แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีคำตอบ ไม่มีความชัดเจนว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จเมื่อไหร่ ทำให้ผลจากการไม่ตรวจสอบหรือไม่ชี้ไปทางใดทางหนึ่ง ผู้ยื่นคำขอจดสิทธิบัตรก็สามารถอ้างได้ว่ายาตัวนี้ได้สิทธิบัตรตามกฎหมายนับตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอ จึงเกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยเพราะต้องซื้อยาแพงจากการผูกขาด บริษัทยาอื่นก็ไม่สามารถผลิตยาได้ แต่ถ้าชี้ว่าไม่อยู่ในข่ายได้รับสิทธิบัตร คนอื่นก็จะผลิตยาได้ และทำให้ยาถูกลง ผู้ป่วยจะได้เข้าถึงยาได้มากขึ้น

“กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ควรเป็นเครื่องมือในการผูกขาดจนเป็นเหตุให้คนเข้าถึงยาไม่ได้ ทั้งที่ยามีความจำเป็น โดยมูลนิธิฯ ได้ยื่นค้านคำขอจดสิทธิบัตร 5 คำขอ เพราะเห็นว่าไม่เข้าข่ายได้รับสิทธิบัตร ยาไม่ใหม่จริง หรือนำยาเก่ามารวมเม็ดใหม่ ถ้ายอมให้จดสิทธิบัตร ก็จะยิ่งทำให้ยาแพงขึ้น และส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนที่เป็นคนป่วย และได้ทวงถามมาโดยตลอด ซึ่งจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ ได้รับคำตอบว่าต้องใช้เวลาถึง 4 ปี ถือว่านานเกินไป และนับแต่ที่ยื่นคัดค้านมาจนถึงวันนี้ก็ 3 ปีเข้าไปแล้ว”

นายนิมิตร์กล่าวว่า มูลนิธิยังได้ขอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาตรวจสอบการจดสิทธิบัตรยาทีโนโฟเวียร์ อะลาฟีนาไมด์ ฟูมาเรต (Tenofovir Alafenamide Fumarate - TAF) ที่เป็นยาจำเป็นในการรักษาเอชไอวี ถึง 2 ฉบับ แต่กรมฯ ได้ตอบกลับมาว่า ผู้ยื่นได้ละทิ้งคำขอ และยังไม่มีคำขอเพิ่มเติม ซึ่งสวนทางกลับความจริง เพราะมีผู้ยื่นคำขอจดสิทธิบัตรเลขที่ 1401000784 ยื่นเมื่อ 15 ส.ค. 2555 ประกาศโฆษณา 27 เม.ย. 2560 ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากรมฯ มีปัญหาวิกฤตเกี่ยวกับการสืบค้นข้อมูลสิทธิบัตรและระบบฐานข้อมูล ไม่สามารถให้ข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้องได้ ทำให้ระบบการรับจดสิทธิบัตรบกพร่อง และตัดโอกาสในการยื่นคัดค้าน และหากได้รับจดสิทธิบัตร ก็จะกระทบต่อประชาชนที่ต้องใช้ยา

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้มีความชัดเจน มูลนิธิฯ ขอให้กรมฯ ชี้แจงการพิจารณาคำคัดค้านที่ล่าช้า และขอให้มีระยะเวลาที่จะตัดสินให้ชัดเจน, ขอให้สร้างความเชื่อมั่นว่าจะนำข้อมูลที่ได้รับหลังประกาศโฆษณาไปประกอบการพิจารณาร่วมกับข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ, แสดงความรับผิดชอบต่อการให้ข้อมูลที่ผิดพลาด โดยเฉพาะกรณียา FAT และต้องแก้ไขระบบฐานข้อมูลโดยทันที ให้สามารถสืบคืนได้สะดวก ข้อมูลครบถ้วน ถูกต้อง และทันเวลา


กำลังโหลดความคิดเห็น