xs
xsm
sm
md
lg

บริษัทตั้งใหม่ในอีอีซี 10 เดือนพุ่ง ยอดรวม 6,095 รายเพิ่มขึ้น 8.22%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“พาณิชย์” เผยบริษัทตั้งใหม่ในพื้นที่อีอีซี 10 เดือนพุ่ง 6,095 ราย เพิ่ม 8.22% ทุนจดทะเบียนรวม 1.64 หมื่นล้านบาท ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาแรงยอดสูงสุด ตามด้วยก่อสร้าง ภัตตาคารและร้านอาหาร ส่วนบริษัทที่จัดตั้งและมีต่างชาติถือหุ้นไม่เกิน 49.99% พบเป็นชาวญี่ปุ่นมากสุด รองลงมาเป็นสิงคโปร์และจีน

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า สถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ประกอบด้วย จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง ช่วง 10 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-ต.ค.) มีจำนวน 6,095 ราย เพิ่มขึ้น 8.22% ทุนจดทะเบียนจัดตั้งรวม 1.64 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.84% และคาดว่าทั้งปี 2561 ยอดการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในพื้นที่อีอีซีจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10%

ทั้งนี้ เมื่อแยกประเภทธุรกิจที่จดจัดตั้งธุรกิจในพื้นที่อีอีซีช่วง 10 เดือน จำนวน 3 อันดับแรก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตั้งใหม่สูงสุดจำนวน 1,054 ราย คิดเป็นสัดส่วน 17.29% ของธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งทั้งหมด ทุนจดทะเบียนจัดตั้ง 3,724 ล้านบาท รองลงมา ก่อสร้างอาคารทั่วไป 497 ราย สัดส่วน 8.15% ทุนจดทะเบียน 706.25 ล้านบาท และภัตตาคาร/ร้านอาหาร 248 ราย สัดส่วน 4.07% ทุนจดทะเบียน 559.81 ล้านบาท

“ธุรกิจที่ตั้งใหม่ในพื้นที่อีอีซี สอดคล้องกับการดึงดูดการลงทุนของรัฐบาล โดยมีการตั้งบริษัทก่อสร้างเป็นจำนวนมาก เพื่อรับงานในพื้นที่ และยังมีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และร้านอาหาร เพื่อรองรับจำนวนประชากรที่จะเข้าไปอยู่ในพื้นที่อีอีซี” นายวุฒิไกรกล่าว

นายวุฒิไกรกล่าวว่า สำหรับการถือหุ้นของต่างชาติในนิติบุคคลไทย โดยถือหุ้นไม่เกิน 49.99% มีสัดส่วน 37.65% ของทุนทั้งหมดในพื้นที่อีอีซี เป็นสัญชาติญี่ปุ่นมากสุดสัดส่วน 52.07% โดยธุรกิจที่ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุน 3 อันดับแรก ได้แก่ ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อื่นๆ สำหรับยานยนต์ มูลค่าลงทุน 7.63 หมื่นล้านบาท รองลงมา คือ ผลิตยางล้อและยางใน มูลค่าการลงทุน 3.17 หมื่นล้านบาท และผลิตอะลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม มูลค่าลงทุน 2.70 หมื่นล้านบาท

ขณะที่สิงคโปร์ มีสัดส่วน 8.02% เป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น โดยธุรกิจ 3 อันดับแรกที่สิงคโปร์ลงทุนสูงสุด ได้แก่ ผลิตผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม มูลค่าลงทุน 1.85 หมื่นล้านบาท รองลงมา คือ ยางล้อและยางใน มูลค่าลงทุน 6,998.96 ล้านบท และผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน มูลค่าลงทุน 3,641.94 ล้านบาท ส่วนจีน มีสัดส่วน 6.56% ซึ่งธุรกิจที่จีนลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมอื่นๆ สำหรับยานยนต์ มูลค่าลงทุน 7,757.51 ล้านบาท ผลิตยางล้อและยางใน มูลค่าลงทุน 2,742.13 ล้านบาท และผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐานขั้นต้นและขั้นกลาง มูลค่าลงทุน 1,841.14 ล้านบาท

ปัจจุบันมีนิติบุคคลคงอยู่ในพื้นที่อีอีซี ณ วันที่ 31 ต.ค. 2561 จำนวน 6.63 หมื่นราย ทุนจดทะเบียน 1.82 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นจังหวัดชลบุรี 4.86 หมื่นราย คิดเป็นสัดส่วน 73.29% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมดในพื้นที่อีอีซี รองลงมาจังหวัดระยอง 1.25 หมื่นราย คิดเป็นสัดส่วน 18.89% และจังหวัดฉะเชิงเทรา 5,191 ราย คิดเป็นสัดส่วน 7.82% โดยนิติบุคคลที่จัดตั้งพื้นที่อีอีซีส่วนใหญ่เป็นธุรกิจบริการสัดส่วน 60.28% รองลงมา คือ ขายปลีกขายส่ง สัดส่วน 24.42% และการผลิต สัดส่วน 15.30%


กำลังโหลดความคิดเห็น