xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออก ต.ค.ฟื้นคืนชีพโต 8.7% 10 เดือนเพิ่ม 8.19% ลุ้นทั้งปีเข้าเป้า 8%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ส่งออกเดือน ต.ค.ฟื้นคืนชีพ ทำได้มูลค่า 21,757.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 8.7% หลังเดือน ก.ย.ติดลบ 5.2% เหตุส่งออกขยายตัวได้ดีเกือบทุกตลาด สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมส่งออกเพิ่ม ด้านยอดรวม 10 เดือน เพิ่ม 8.19% คาดทั้งปีมีลุ้นเข้าเป้า 8% ส่วนปี 62 ยังยืนเป้า 8% แต่ต้องมีทีมเฉพาะกิจติดตามการเปลี่ยนแปลงโลกและทำยุทธศาสตร์รับมือ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกไทยในเดือน ต.ค.มีมูลค่า 21,757.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.7% เป็นการกลับมาขยายตัวอีกครั้ง หลังจากที่เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ขยายตัวติดลบ 5.2% ด้านการนำเข้ามีมูลค่า 22,037.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.23% ขาดดุลการค้า 279.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการส่งออกรวม 10 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 211,487.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.19% การนำเข้ามีมูลค่า 208,928.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.78% เกินดุลการค้ามูลค่า 2,558.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกฟื้นตัวเนื่องจากการส่งออกขยายตัวได้ดีเกือบทุกตลาด โดยตลาดในภูมิภาคเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย และ CLMV ขยายตัวในระดับสูงที่ 18.7%, 12% และ 18.2% สหรัฐฯ และจีน ก็กลับมาขยายตัว โดยเพิ่ม 7.2% และ 3% ตามลำดับ หลังจากหดตัวลงเล็กน้อยในเดือน ก.ย. 2561 ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 12.2% สินค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น น้ำตาล ข้าว มันสำปะหลัง ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ผัก ผลไม้สดแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป และสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 6.8% เช่น สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ เป็นต้น

สำหรับผลกระทบจากสงครามการค้าในเดือน ต.ค.นี้ มีผลทั้งบวกและลบ โดยผลลบไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ลดลงจากการที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษี โดยส่งออกโซลาร์เซลล์ ลด 71.9% เครื่องซักผ้า ลด 91.7% แต่เหล็ก เพิ่ม 41.4% อะลูมิเนียม เพิ่ม 106.2% แต่ได้ผลดีส่งออกไปจีนได้เพิ่ม จากการเพิ่มขึ้นของเคมีภัณฑ์และพลาสติก 17.9% เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เพิ่ม 6.1% เครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับและเครื่องสำอาง เพิ่ม 1.3% แต่ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์และแผงวงจร ลด 18.4% ยานพาหนะและส่วนประกอบ ลด 12% ของใช้ในบ้านและออฟฟิศ ลด 31.5% และยังส่งออกไปสหรัฐฯ ทดแทนสินค้าจีนได้เพิ่ม เช่น ยานพาหนะและส่วนประกอบ 26.1% เคมีภัณฑ์ เพิ่ม 39% เหล็กและผลิตภัณฑ์ เพิ่ม 89.2% เครื่องจักรและส่วนประกอบ เพิ่ม 19.9%

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกจากนี้ไป หากจะผลักดันให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 8% การส่งออกในช่วง 2 เดือนที่เหลือ (พ.ย.-ธ.ค.) จะต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 22,039 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งประเมินแล้วเห็นว่ายังมีโอกาสเป็นไปได้สูง แต่หากส่งออกทำได้ในระดับ 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราการขยายตัวทั้งปีจะอยู่ที่ประมาณ 7.5%

ส่วนการส่งออกปี 2562 ยังคงยืนเป้าหมายที่ 8% แต่ปีหน้าเศรษฐกิจและการค้าโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะเป็นปัจจัยกดดันการค้า ปัญหาของสงครามการค้าที่อาจจะรุนแรงขึ้น และจะมีการเปลี่ยนแปลงขั้วเศรษฐกิจโลก ซึ่ง สนค.จะเสนอให้ตั้งทีมงานเฉพาะกิจ เพื่อติดตามและทำยุทธศาสตร์ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพื่อผลักดันการส่งออกของไทยให้ขยายตัวได้ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น