xs
xsm
sm
md
lg

กทพ.ถกคลังแก้สำลักเงิน TFF กว่า 4 หมื่นล้าน หาทางลดส่วนต่างดอกเบี้ย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กทพ.จ่อหารือคลังช่วยแก้ภาวะเงินล้นมือ หลังระดม TFF ได้กว่า 4.48 หมื่นล้านแต่ยังไม่ประมูลก่อสร้าง เผยเตรียมขอใช้ลงทุนด่วนบางนา-ชลบุรีเข้าท่าเรือคลองเตย และ N1 ทดแทนเพิ่ม ขณะที่เซ็นข้อตกลงคุณธรรม เร่งประมูล 5 สัญญา ด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง ธ.ค.นี้ ตอกเข็ม พ.ค. 62 

วันนี้ (14 พ.ย.) นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญาจ้างควบคุมงานก่อสร้าง โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระหว่าง กทพ. กับกลุ่มบริษัท เอพซิลอน จำกัด บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด วงเงิน 391.64 ล้านบาท พร้อมกันนี้ ได้มีการลงนามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) กับผู้สังเกตการณ์อิสระ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เพื่อให้การดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 

นายสุรงค์กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางด่วนขั้นที่ 1 และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่ง กทพ.ได้ระดมเงินผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์) หรือ TFF  ในการก่อสร้าง ซึ่งการระดมทุนประสบความสำเร็จได้เม็ดเงินถึง 44,811 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนของภาคประชาชน 50% หรือบัญชีรายย่อนกว่า 5 ล้านคน แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของประชาชน 
               
ตามแผน ล่าสุด กทพ.จะนำเงินจาก TFF ไปใช้ในการก่อสร้าง 4 โครงการ ได้แก่ ทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง 2. ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และ E-W corridor ด้านตะวันออก วงเงิน 14,382 ล้านบาท แต่เนื่องจากการออกแบบต้องประสานกับแบบของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ดังนั้น กทพ.จะเร่งรัดก่อสร้างในส่วนที่ดำเนินการได้ก่อน คือ ทางเชื่อมระดับดินบริเวณแยกฉลองรัฐ จุดตัดถนนประเสริฐมนูกิจและประดิษฐ์มนูธรรม เพื่อระบายการจราจรจากเอกมัย-รามอินทรา เข้าเกษตรนวมินทร์ วงเงิน 480 ล้านบาท โดยส่วนนี้ กทพ.อยู่ระหว่างฟ้องเรียกค่าเสียหายกรณีตลาดหัวมุม ซึ่งหากศาลมีคำตัดสินอย่างไรก็จะเร่งดำเนินการต่อไป 

3. โครงการทางเชื่อมท่าเรือคลองเตย กับทางด่วนบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) วงเงินกว่า 3,000 ล้านบาท โดยจะมีการลงนาม MOU กับการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ในวันที่ 21 พ.ย.นี้ 4. โครงการทางด่วน ช่วงทดแทน ตอน N1 แนวคลองบางบัว คลองบางเขน และเลียบขนานดอนเมืองโทลล์เวย์ ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท ซึ่งจะต้องเสนอ ครม.ขออนุมัติใช้เงินจาก TFF เพิ่มเติม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดในการนำเงินจากกองทุน TFF มาดำเนินการ และแก้ปัญหาจราจรในพื้นที่ กทม.

อย่างไรก็ตาม หลังจากระดมเงินจาก TFF มาแล้วกว่า 4 หมื่นล้านบาทนั้น ในระยะแรก กทพ.จะมีเงินค้างในระบบ 2-3 ปีเนื่องจากค่าก่อสร้างจะทยอยจ่าย โดยในปี 62 หลังทำสัญญากับผู้รับจ้างจะจ่าย10% หรือประมาณ 3,000 ล้านบาท ดังนั้น กทพ.จะเร่งหารือด้านนโยบายกับกระทรวงการคลังเพื่อหาแนวทางในการบริหารเงินคงคลังจาก TFF
และบริหารเงินสดคงเหลือให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น หาแหล่งลงทุนที่มีผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงต่ำ 

“ตามเงื่อนไขผลตอบแทน TFF อยู่ที่ 4.75% ขณะที่เงินฝากดอกเบี้ยกว่า 1% เท่านั้น ยังมีส่วนต่างภาระทางการเงินอยู่ กทพ.ต้องหาทางบริหารสภาพคล่องเพื่อให้สามารถพึ่งพารายได้ และกำหนดทิศทางของตัวเองในการเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นดีต่อไป ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ กทพ.ต้องเร่งผลักดันโครงการสำคัญๆ ที่จะแก้ปัญหาจราจรในเมือง”

***ธ.ค.เปิดประมูล 5 สัญญา ด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง เร่งตอกเข็ม พ.ค. 62 

นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า ขณะนี้ กทพ.อยู่ระหว่างการจัดทำทีโออาร์ในการประมูลก่อสร้างทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนฯ มูลค่าก่อสร้าง 30,437 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 5 สัญญา ได้แก่ งานโยธา 4 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 ระยะทาง 6.4 กม. วงเงิน 7,079 ล้านบาท สัญญาที่ 2 ระยะทาง 5.3 กม. วงเงิน 7,201 ล้านบาท สัญญาที่ 3 ระยะทาง 5 กม. วงเงิน 6,914 ล้านบาท สัญญาที่4 ช่วงสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 2 กม. วงเงิน 7,942 ล้านบาท และสัญญา 5 งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมการจราจรและระบบสื่อสาร วงเงิน 874 ล้านบาท 
       
ในเดือน พ.ย.นี้จะออกประกาศทีโออาร์รับฟังความคิดเห็น และขายเอกสารประมูลในเดือน ธ.ค. 2561 ได้ตัวผู้รับจ้างในเดือน มี.ค. 2562 และเริ่มก่อสร้างในเดือน พ.ค. 2562 ระยะเวลาก่อสร้าง 39 เดือน (3 ปี 3 เดือน) กำหนดเปิดให้บริการได้ในปีงบประมาณ 2565  

ทั้งนี้ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก มีระยะทางรวมประมาณ 18.7 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นที่ กม.13+000 ของถนนพระรามที่ 2 (ก่อนถึงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียนบริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก) เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ซ้อนทับไปตามแนวเกาะกลางถนนพระรามที่ 2 มาทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงดาวคะนอง จากนั้นแนวสายทางจะซ้อนทับบนทางพิเศษเฉลิมมหานครจนถึงบริเวณถนนพระรามที่ 3 ใกล้กับทางแยกต่างระดับบางโคล่ สิ้นสุดโครงการโดยเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัชและทางพิเศษเฉลิมมหานคร โดยช่วงที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจะก่อสร้างสะพานใหม่ขนาด 8 ช่องจราจร ขนานอยู่ทางด้านทิศใต้ของสะพานพระราม 9 มีทางขึ้น-ลงจำนวน 7 แห่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น