xs
xsm
sm
md
lg

อาเซียนลงนามความตกลงอีคอมเมิร์ซ คาดช่วยผลักดันค้าขายออนไลน์โต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนลงนามความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียนแล้ว มั่นใจช่วยอำนวยความสะดวก สร้างความเชื่อมั่นทำธุรกิจ และช่วยผลักดันการค้าขายออนไลน์ในอาเซียน เหตุมีการคุ้มครองผู้บริโภค ป้องกันภัยไซเบอร์ มีกฎระเบียบที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน คาดบังคับใช้ต้นปี 62

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง เปิดเผยว่า ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน (อาเซียนซัมมิต) ครั้งที่ 33 ที่สิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 13-15 พ.ย. 2561 รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ลงนามความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียนเพื่ออำนวยความสะดวกการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนของสมาชิกอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ผ่านกลไกต่างๆ เช่น การคุ้มครองผู้บริโภค, การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมทั้งยังช่วยให้เกิดการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดความแตกต่างของระดับการพัฒนาประเทศผ่านความร่วมมือต่างๆ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การส่งเสริมการศึกษาและเทคโนโลยี และการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ เป็นต้น

“ความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์นี้เป็นความตกลงฉบับแรกของอาเซียน โดยหลังจากการลงนามเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2561 คาดว่าจะมีผลใช้บังคับช่วงต้นปี 2562 หลังสมาชิก 10 ประเทศให้สัตยาบัน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานให้สมาชิกมีกลไกการค้าขายทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงเร่งรัดให้สมาชิกที่ยังไม่มีกฎระเบียบในด้านนี้ เช่น กัมพูชา พม่า และ สปป.ลาว มีกฎระเบียบที่มีมาตรฐานทัดเทียมสมาชิกอื่น เป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และช่วยให้การค้าผ่านอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียนขยายตัวมากขึ้น” น.ส.ชุติมากล่าว

นอกจากนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนยังประสบความสำเร็จในการจัดทำเอกสารอีก 2ฉบับ คือ ความตกลงการค้าบริการอาเซียน (ATISA) และเอกสารปรับปรุงความตกลงการลงทุนอาเซียน (ACIA) โดย ATISA จะใช้แทนกรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียนฉบับปัจจุบัน ซึ่งได้ปรับปรุงให้ทันสมัยและไม่เป็นอุปสรรคทางการค้าเกินความจำเป็น และจะช่วยให้ธุรกิจบริการที่ไทยมีศักยภาพสามารถเติบโตมากขึ้นในประเทศอาเซียน เช่น บริการสุขภาพ, บริการด้านการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร, บริการด้านก่อสร้าง, บริการด้านการจัดประชุม และการจัดนิทรรศการ เป็นต้น ขณะเดียวกัน ยังช่วยเพิ่มความโปร่งใสในการใช้มาตรการทางการค้าบริการของอาเซียน เพราะสมาชิกต้องเผยแพร่ระเบียบกฎเกณฑ์ด้านการลงทุนต่อสาธารณะ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของนักลงทุน

สำหรับ ACIA ฉบับปรับปรุงใหม่มีสาระสำคัญ คือ การขยายขอบเขตการห้ามกำหนดเงื่อนไขต่อนักลงทุนในการที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศอาเซียนอื่น แต่ยังเปิดช่องให้สมาชิกบริหารจัดการนโยบายของตนได้ โดยสามารถสงวนมาตรการที่มีความอ่อนไหว ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการลงทุน สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน และอำนวยความสะดวกการลงทุนได้


กำลังโหลดความคิดเห็น