xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.จองใช้พื้นที่ “ไออาร์พีซี” ผุดปิโตรฯ คอมเพล็กซ์ในอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กลุ่ม ปตท.จับมือบริษัทลูกเตรียมศึกษาความเป็นไปได้ทำโครงการปิโตรเคมีขนาดใหญในพื้นที่เขตประกอบการฯ ไออาร์พีซี รองรับความต้องการใช้เม็ดพลาสติกในอนาคต หลังประเมินโครงการขยายการลงทุนปิโตรเคมีของเอ็กซอนฯ ที่ศรีราชา จ.ชลบุรีเกิดยาก

นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.ร่วมกับบริษัทในเครือฯ เตรียมศึกษาความเป็นไปได้ในการวางแผนการลงทุนโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในระยะยาว โดยใช้แนฟทาเป็นวัตถุดิบ บนพื้นที่นิคมฯ ไออาร์พีซี อ.เชิงเนิน จ.ระยอง เพื่อรองรับความต้องการปิโตรเคมีในภูมิภาคนี้ โดยยังไม่ตัดสินใจลงทุนช่วงนี้เพราะบริษัทในเครือ ปตท.มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ใช้เงินลงทุนมากในช่วง 2-3 ปีนี้

ทั้งนี้ ไออาร์พีซีมีพื้นที่ใน ต.เชิงเนิน จ.ระยอง 700-800 ไร่ ซึ่งมีศักยภาพในการลงทุนโครงการปิโตรเคมีขนาดใหญ่ได้ และมีท่าเรือน้ำลึกด้วย รวมทั้งบริษัทในกลุ่ม ปตท.ทั้ง บมจ.ไทยออยล์ (TOP) และ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ก็มีแนฟทาเหลือเพียงพอใช้เป็นวัตถุดิบในโครงการปิโตรเคมีได้เกิดการประหยัดด้านขนาด (Economy of Scale) ระดับ 1 ล้านตัน/ปี เพื่อมีต้นทุนการผลิตสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

ส่วนกรณีที่บริษัท เอ็กซอนโมบิล คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทแม่ บมจ.เอสโซ่ (ประเทศไทย) สนใจลงทุนขยายปิโตรเคมีในไทย จากปัจจุบันมีเพียงโรงงานผลิตอะโรเมติกส์ขนาดกำลังผลิต 5 แสนตัน/ปี คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 2 แสนล้านบาทนั้น พบว่าการรวบรวมพื้นที่แถบศรีราชา จังหวัดชลบุรี ขนาด 800-900 ไร่ ใกล้โรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่เป็นไปได้ยากและราคาที่ดินสูง

ทั้งนี้ เอ็กซอน โมบิลต้องการลงทุนขยายกำลังการผลิตโอเลฟินส์แครกเกอร์ในไทยนั้น เนื่องจากโรงกลั่นเอสโซ่มีวัตถุดิบที่ได้จากกระบวนการกลั่นนำมาต่อยอดทำปิโตรเคมีเพื่อป้อนตลาดในภูมิภาคนี้ที่มีจีดีพีเติบโตสูง และยังต้องนำเข้าปิโตรเคมีสุทธิ ซึ่งก่อนหน้านี้ เอ็กซอนฯ ได้มีการลงทุนปิโตรเลียมเคมีที่สิงคโปร์แล้ว

“มีเพียงไออาร์พีซีเท่านั้นที่มีพื้นที่ใหญ่ รวมทั้งมีท่าเรือน้ำลึก รองรับการลงทุนโครงการปิโตรเคมีขนาดใหญ่ในเขตประกอบการฯ ไออาร์พีซีที่ ต.เชิงเนิน อ.เมือง จ.ระยอง ซึ่งสำรองที่ดินนี้ไว้เพื่อทำโครงการปิโตรเคมีในกลุ่ม ปตท.ใช้แนฟทาเป็นวัตถุดิบ ซึ่งจะลดความเสี่ยงการผลิตน้ำมันในอนาคต เพราะสามารถนำต่อยอดผลิตปิโตรเคมีได้เลยโดยลดการผลิตน้ำมันเบนซินลง”

ทั้งนี้ ไทยออยล์มีโครงการลงทุนโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ใช้เงินลงทุน 4,174 ล้านเหรียญสหรัฐ และเพิ่มกำลังการกลั่นจาก 2.75 แสนบาร์เรล/วัน เป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน ส่วน PTTGC มีการลงทุนโรงโอเลฟินส์แห่งใหม่ (Olefins Reconfiguration Project) โดยใช้แนฟทา และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เป็นวัตถุดิบหลัก และจับมือพันธมิตรญี่ปุ่นร่วมลงทุนโครงการสร้างมูลค่าเพิ่มปิโตรเคมีปลายน้ำชนิดพิเศษ รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ที่สหรัฐฯ



กำลังโหลดความคิดเห็น