xs
xsm
sm
md
lg

เอสซีจีลั่นปี 62 เปิดตัว “โซลาร์ลอยน้ำ” พร้อมให้บริการลูกค้าแบบครบวงจร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอสซีจีเตรียมเปิดตัวเป็นผู้ให้บริการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำรูปแบบโซลูชันครบวงจรตั้งแต่ออกแบบ ติดตั้ง และบริการหลังการขายในปี 2562 เล็งหาพันธมิตรเข้าประมูลการติดตั้งโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ 45 เมกะวัตต์ของ กฟผ.

นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช Senior Vice President ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เปิดเผยว่า ในปีหน้าบริษัทจะเปิดตัวการเป็นผู้ให้บริการการติดตั้งการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำหรือโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำในรูปแบบโซลูชันครบวงจรให้แก่ผู้ที่สนใจทั้งภาครัฐและเอกชน หลังจากบริษัทได้มีการวิจัยและพัฒนาในเรื่องดังกล่าวจนมีเทคโนโลยีเกี่ยวกับทุ่นลอยน้ำสำหรับผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์

บริษัทจะเป็นผู้ให้บริการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำในรูปแบบโซลูชันครบวงจรเป็นรายแรกของไทย ครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบพื้นที่ การติดตั้ง การขออนุญาต การต่อระบบไฟ และการดูแลบำรุงรักษา โดยมีจุดเด่นที่ตัวทุ่นลอยน้ำที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีนเกรดพิเศษ แข็งแรง ทนทาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีอายุการใช้งานยาวนานกว่า 25 ปี เทียบเท่าอายุการใช้งานของแผงโซลาร์ รวมทั้งบริษัทดำเนินธุรกิจในไทยกว่า 100 ปีช่วยการันตีการบริการหลังการขาย โดยบริษัทได้มีการติดตั้งโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำในพื้นที่บ่อกักเก็บน้ำของโรงงานที่นิคมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ขนาดกำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ ซึ่งมีต้นทุนการผลิตไฟจากโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำอยู่ในอัตรา 2.50บาท/หน่วย ต่ำกว่าการซื้อไฟจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อวิจัยและพัฒนาระบบยึดโยงสำหรับโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำเพื่อปรับใช้ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำและเขื่อน กฟผ.ด้วย ขณะนี้ได้ดำเนินการออกแบบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เตรียมติดตั้งที่เขื่อนท่าทุ่งนา จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อทดสอบระบบการยึดโยงบนพื้นผิวน้ำที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิศาสตร์ ทั้งคลื่นลมและความลึก วางเป้าหมายผลิต 500 กิโลวัตต์ หากประสบความสำเร็จก็จะเป็นก้าวย่างสำคัญในการพัฒนาธุรกิจของกลุ่มเคมิคอลส์ เอสซีจี

ทั้งนี้ หาก กฟผ.เปิดประมูลให้มีการติดตั้งโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี มีกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ โดยเอสซีจีก็มีความสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลด้วย โดยจะขอดูรายละเอียดทีโออาร์ก่อน เบื้องต้นก็จะหาพันธมิตรที่มีเทคโนโลยีเพื่อเข้าประมูล รวมถึงการเข้าไปแข่งขันในการติดตั้งโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำในเขื่อนต่างๆ อีก 11 เขื่อนที่มีศักยภาพผลิตไฟได้กว่า 1 พันเมกะวัตต์


กำลังโหลดความคิดเห็น