xs
xsm
sm
md
lg

แก้ปมเข้าใจผิดเข้าร่วม CPTPP “พาณิชย์” ทำถาม-ตอบแจงรายข้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“พาณิชย์” เล็งทำคำถามคำตอบชี้แจงข้อสงสัยเกษตรกร ผู้ประกอบการเป็นรายข้อ หลังลงพื้นที่พบมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในหลายประเด็น ทั้งเรื่องเมล็ดพันธุ์พืช การนำเข้าสินค้า GMOs และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ส่วนภาพรวมพบส่วนใหญ่หนุน เหตุเพิ่มโอกาสค้าขาย ดึงลงทุน เตรียมรับฟังความเห็นอีก 2 ครั้ง และสรุปผลให้คณะทำงานพิจารณาก่อนชงรัฐบาลตัดสินใจ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ มีแผนที่จะจัดทำคำถามคำตอบที่เป็นข้อกังวลของเกษตรกร และผู้ประกอบการเกี่ยวกับการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) หลังจากที่ได้ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นมาแล้ว 3 ครั้ง ที่ชลบุรี เชียงใหม่ และสงขลา โดยพบว่ามีข้อสงสัยในประเด็นที่เหมือนๆ กันทุกครั้ง จึงเห็นว่าน่าจะทำรายละเอียดในแต่ละเรื่องที่เป็นข้อสงสัยออกมาเพื่อสร้างความเข้าใจและคลายความกังวล

สำหรับประเด็นข้อสงสัยและต้องชี้แจง เช่น อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV) เกษตรกรมีความกังวลว่าจะทำให้วิถีชีวิตเกษตรกรเปลี่ยนไป เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกปีต่อไปได้หรือไม่ ซึ่งยืนยันว่าไม่กระทบต่อเกษตรกรและสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกได้ แต่เอาไปจำหน่ายต่อไม่ได้ และในประเด็นสินค้าตัดแต่งพันธุกรรม (GMOs) ไม่ได้เปิดทางให้มีการนำเข้าสินค้า GMOs แต่การนำเข้าเป็นเรื่องของแต่ละประเทศที่จะมีมาตรการดูแล ซึ่งไทยก็มีมาตรการที่ชัดเจนในเรื่องนี้

ส่วนประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ในประเด็นความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างเป็นเรื่องที่ไทยดำเนินการอยู่แล้ว ส่วนประเด็นการเปิดให้ผู้ประกอบการจากสมาชิก CPTPP เข้ามาประมูลงานมีการกำหนดเงื่อนไขไว้ เช่น งานประมูลที่มีมูลค่าไม่มาก ไม่ต้องกังวล ไม่ได้เปิดให้เข้ามาแข่งขันอยู่แล้ว แต่งานประมูลวงเงินมาก เช่น การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ต้องเปิด ซึ่งปัจจุบันไทยก็เปิดกว้างอยู่แล้ว และยังมีข้อดีคือ ผู้ประกอบการไทยก็สามารถออกไปประมูลงานได้เช่นเดียวกัน

นางอรมนกล่าวว่า ภาพรวมการลงพื้นที่ เบื้องต้นได้ข้อสรุปว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่สนับสนุนให้ไทยเข้าร่วม CPTPP เพราะเห็นว่ามีโอกาสในการเพิ่มการค้า การลงทุน เพราะตลาดใหญ่ขึ้น โดยปัจจุบันการค้าไทยกับโลก 1 ใน 3 เป็นการค้าขายกับสมาชิก CPTPP ซึ่งจะทำให้ไทยมีโอกาสส่งออกได้มากขึ้น จากการลดภาษีและการผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการค้าลงมา และยังช่วยดึงดูดการลงทุน ทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตของประเทศอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น ญี่ปุ่น ที่จะเข้ามาใช้ไทยเป็นฐาน

ทั้งนี้ กรมฯ ยังมีแผนที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นอีก 2 ครั้ง คือ ที่กรุงเทพฯ วันที่ 19 ก.ย. 2561 ที่โรงแรมดุสิตธานี และครั้งถัดไปที่ขอนแก่น วันที่ 26 ก.ย. 2561 ที่โรงแรมพูลแมน จากนั้นจะนำข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะทั้งหมดเสนอให้คณะทำงานเตรียมการพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP ที่มี รมว.พาณิชย์เป็นประธานพิจารณา โดยจะมีการนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจาก 30 หน่วยงานที่ได้อยู่ในคณะทำงานชุดต่างๆ 18 คณะมาพิจารณาด้วย เมื่อได้ข้อสรุปแล้วก็จะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น