ร.ฟ.ท.เปิดชิงสัมปทาน 20 ปีบริหาร “ไอซีดีลาดกระบัง” มูลค่า 4 หมื่นล้าน ส่อแววแข่งเดือด เอกชน 7 รายแห่ซื้อซองขณะที่เปิดขายตั้งแต่ 3 ก.ย.-1 พ.ย. 61 ยื่นซอง 30 พ.ย. คาดได้ตัวในต้นปี 62 ด้าน ร.ฟ.ท.หารืออัยการก่อนทำหนังสือแจ้งเลิกสัญญาเอกชนเดิม
นางสิริมา หิรัญเจริญเวช รองผู้ว่าการกลุ่มยุทธศาสตร์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ว่า ได้เปิดขายเอกสารเชิญชวนผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนแล้วตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย. 2561 ถึงวันที่ 1 พ.ย. 2561 ภายในวันและเวลาราชการ กำหนดยื่นข้อเสนอวันที่ 30 พ.ย. 2561 ซึ่งคาดได้ตัวผู้ประกอบการใหม่ต้นปี 2562
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย.-14 ก.ย. มีผู้ซื้อซองแล้วจำนวน 7 ราย โดยในส่วนของเงื่อนไขในทีโออาร์หลักๆ ยังคงเป็นไปตามเดิม โดยเพิ่มความชัดเจนในบางเรื่อง เช่น การส่งมอบพื้นที่ ซึ่งจะส่งตามสภาพปัจจุบันเพื่อให้เอกชนที่ชนะประมูลรับไปปรับปรุงทั้งหมด โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องดูแลปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน และบริหารการจราจร ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56) จะพิจารณาในเรื่องคุณสมบัติ เทคนิค และเลือกผู้เสนอราคาค่าบริการต่ำสุดเพื่อลดต้นทุนของผู้ใช้บริการ
สำหรับเอกชน 6 รายผู้บริหาร 6 สถานี ซึ่งสัญญาสัมปทานได้สิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค. 2554 มีการต่อสัญญามาตลอดจนถึงปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เสนอไปยัง ร.ฟ.ท.ให้ทำหนังสือแจ้งบอกเลิกการใช้สิทธิ์แล้วเพื่อเป็นการแจ้งล่วงหน้าประมาณ 5-6 เดือนก่อนได้ผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่ง ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างทำหนังสือหารืออัยการเพื่อทำหนังสือบอกเลิกสัญญาอย่างเป็นทางการและมีผลทางกฎหมายต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการร่วมลงทุนประกอบการไอซีดี ลาดกระบัง มีพื้นที่ 647 ไร่ ระยะเวลา 20 ปี มูลค่าประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ทีโออาร์กำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนต้องมีประสบการณ์ และผลงานบริหารจัดการตู้สินค้าย้อนหลัง 5 ปี กรณีเป็นนิติบุคคลรายเดียวเฉลี่ยไม่น้อยกว่าปีละ 9 แสนทีอียู กรณีเป็นนิติบุคคลหลายรายที่ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนในนามกิจการร่วมค้า (Joint Venture /Consortium) ที่จดทะเบียนใหม่ รวมกันเฉลี่ยไม่น้อยกว่าปีละ 9 แสนทีอียู กรณีไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ นิติบุคคลหลักเฉลี่ยไม่น้อยกว่าปีละ 5 แสนทีอียู และเมื่อรวมทั้งกลุ่มเฉลี่ยไม่น้อยกว่าปีละ 9 แสนทีอียู
กำหนดยื่นข้อเสนอ 3 ซอง โดยซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค ซองที่ 3 ข้อเสนอการคิดอัตราค่าบริการเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการ โดยเป็นสัญญาสัมปทานเดียว ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกตั้งข้อสังเกตและร้องเรียนประเด็นกรณีล็อกสเปก ปิดกั้น มีการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ขณะที่ ร.ฟ.ท.ยืนยันโมเดลสัมปทานเดียวมีความเหมาะสมและแก้ปัญหาการบริหารจัดการเพื่อให้บริการที่ดีกว่ารูปแบบเดิม
สำหรับผู้ประกอบการตามสัญญาสัมปทานเดิมมี 6 ราย ได้แก่ 1. บริษัท สยามชอร์ไซด์ เซอร์วิส จำกัด (SSS) 2. บริษัท อีสเทิร์นซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด (ESCO) 3. บริษัท เอเวอร์กรีนคอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด (ECTT) 4. บริษัท ทิฟฟ่า ไอซีดี จำกัด (TIFFA) 5. บริษัท ไทยฮันจิน โลจิสติกส์ จำกัด (THL) และ 6. บริษัท เอ็น.วาย.เค. ดิสทริบิวชั่น เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด (NICD)