xs
xsm
sm
md
lg

“เอสซีจี” ทุ่ม 6 พันล้านใน 5 ปี รับธุรกิจดิจิทัล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“เอสซีจี” ทุ่ม 6 พันล้านบาทใน 5 ปี ลงทุน Digital Transformation เพื่อความอยู่รอด นอกเหนือจากงบ R&D ที่ใช้แต่ละปี 4 พันกว่าล้านบาท โดยมี “AddVentures” ลงทุนสตาร์ทอัพ หลังประเมินอนาคตองค์กรขนาดใหญ่ เงินทุนหนาไม่ใช่ความได้เปรียบอีกต่อไป

นายยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารกลาง เอสซีจี เปิดเผยว่า เอสซีจีมีการตั้งงบการวิจัยและพัฒนา (R&D) ประมาณ 1% ของยอดขาย หรือคิดเป็น 4 พันกว่าล้านบาทต่อปี และมีการตั้งงบส่วนเพิ่มในการลงทุน Digital Transformation ประมาณ 6 พันล้านบาท ภายใน 5 ปี โดยแบ่งเป็นการลงทุนด้านดิจิทัล 3 พันล้านบาท และอีก 3 พันล้านบาท ลงทุนด้านนิวเทคโนโลยี อยู่ภายใต้ AddVentures โดยมีเป้าหมายเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่มีพฤติกรรมเชิงลึกเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งพัฒนาสินค้าและบริการให้ลูกค้ามีชีวิตที่ดีขึ้น หรือ PASSION FOR BETTER เพื่อให้องค์กรอยู่รอดอย่างยั่งยืน

“จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป เอสซีจีก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน จำเป็นที่บริษัทต้องปรับตัวให้ได้เพื่อความอยู่รอด รวมทั้งได้มีการจัดตั้ง AddVentures เพื่อร่วมทุนกับ Startup ที่มีศักยภาพ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมพนักงานในองค์กรภายในที่มีความคิดต้องการทำ Startup เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วย”

ทั้งนี้ เอสซีจีได้ตั้งหน่วยงาน Digital Transformation ขึ้นมา เพื่อรับผิดชอบใน 3 ส่วนงานหลัก ได้แก่ 1. ส่วนงานภายใน โดยดูแลและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากบุคลากรภายในองค์กร เพื่อสร้างขีดความสามารถให้แก่บุคลากร ผลักดันให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ในเอสซีจี และเกิดนวัตกรรมใหม่ที่ต่อยอดกับธุรกิจหลักได้ 2. ส่วนงานภายนอก โดยจัดตั้ง AddVentures เป็นหน่วยงานด้านการลงทุน (Corporate Venture Capital) ของเอสซีจีตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก และ 3. ส่วนงาน Core Transformation โดยนำเรื่องของ AI และ Machine Learning เข้ามาช่วยทำ Data Analytics และ Digital Marketing เพื่อเพิ่มศักยภาพ

จากการปรับทิศทางดังกล่าว ทำให้เอสซีจีสามารถแก้ไขปัญหา (Pain Point) ของลูกค้าทั้งกลุ่มภาคธุรกิจและผู้บริโภคได้อย่างตรงจุดมากขึ้นโดยบริษัทเริ่มมีธุรกิจกลุ่มดิจิทัลเข้ามาช่วยในการให้บริการลูกค้ามากขึ้น ทั้งในรูปแบบซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน เช่น Home Buddy แอปฯ ให้คำปรึกษา ออกแบบ เลือกซื้อสินค้าสำหรับการสร้างบ้าน โดยคาดว่าใน 3-5 ปีข้างหน้า เราจะมีธุรกิจกลุ่ม B2B for C หรือธุรกิจต่อธุรกิจเพื่อผู้บริโภค ตลอดจนธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในปัจจุบันของเรา เช่น ธุรกิจที่ตอบโจทย์ e-Logistics แพลตฟอร์ม e-Commerce ที่ตอบโจทย์ Omni Channel โดยมีแผนขยายโมเดลลักษณะนี้ไปใช้ในอาเซียนด้วย

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของเอสซีจีใน 3-5 ปีนี้จะต้องเป็นองค์กรที่สามารถปรับตัวและอยู่รอดได้ เพราะองค์กรขนาดใหญ่ และเงินทุนมากไม่ใช่ความได้เปรียบอีกต่อไป จำเป็นต้องมีการปรับตัว มีการนำดิจิทัลมาช่วยเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างรวดเร็ว

นายจาชชัว แพส ผู้อำนวยการ Digital Transformation เอสซีจี และกรรมการผู้จัดการ AddVentures กล่าวว่า ได้มีโครงการบ่มเพาะธุรกิจสำหรับพนักงานภายใน หรือ Internal Startup Program ขึ้น เพื่อให้พนักงานที่มีศักยภาพ มี Passion ในการทำธุรกิจ มีความคิดเป็นเจ้าของ และอยากมีส่วนร่วมในการคิดที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อลูกค้า สามารถนำเสนอโมเดลธุรกิจของตัวเองเข้ามาร่วมโครงการ โดยผู้เข้าร่วมจะได้รับโอกาสในการทำงานอย่างอิสระ รวมถึงได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากเอสซีจีโดยตรงสำหรับการดำเนินโครงการ

ส่วนงานภายนอกนั้น หลังจากก่อตั้ง AddVentures ได้มีการลงทุนผ่านกองทุนชั้นนำที่ลงทุนในสตาร์ทอัพ (Fund of Fund Investment) และการลงทุนโดยตรงในสตาร์ทอัพ (Direct Investment) โดยมีความร่วมมือที่สำคัญ เช่น ความร่วมมือกับ GIZTIX สตาร์ทอัพด้าน Logistics Market Place, BUILK แพลตฟอร์มการบริหารธุรกิจก่อสร้างซึ่งมีอยู่แล้วใน 5 ประเทศ และ Baania แพลตฟอร์มค้นหาอสังหาริมทรัพย์พร้อมบริการข้อมูลครบวงจร

ปัจจุบัน AddVentures ได้เข้าลงทุนทั้งแบบ Fund of Fund Investment และ Direct Investment แล้ว 11 ราย และสร้างความร่วมมือในเชิงพาณิชย์กับบริษัทภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทด้านเทคโนโลยี ทั้งที่เป็น Early stage และ Growth stage startups ทั่วโลก ซึ่งมีโครงการที่มีความคืบหน้าแล้วกว่า 70 โครงการ


กำลังโหลดความคิดเห็น