การเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Agriculture) เป็นรูปแบบการเกษตรใหม่ที่ใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการจัดการข้อมูลมาใช้ในแปลง เพื่อบริหารจัดการพื้นที่แปลงให้มีความเหมาะสมและแม่นยำขึ้น โดยวัตถุประสงค์หลักคือการลดต้นทุนการผลิต ควบคู่ไปกับการเพิ่มผลผลิต
แนวคิดนี้ไม่ใช่ของใหม่เสียทีเดียว ละม้ายกับระบบชลประทานในไร่นา หรือ On Farm Irrigation ที่ส่งน้ำเข้าถึงทุกแปลง มีถนนหรือเส้นทางสัญจร ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตควบคู่ด้วยกัน ซึ่งสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน ดำเนินการอยู่แล้ว ทั้งในรูปแบบการจัดรูปที่ดินหรือการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมถ้าเปรียบเทียบ On Farm อาจเป็นขั้นพื้นฐาน แต่เกษตรแม่นยำสูงน่าจะเป็นขั้นก้าวหน้า Advance ยิ่งขึ้นในการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตอีกชั้นหนึ่ง
พื้นที่โครงการจัดรูปที่ดินบ้านหัวเขา 1-2 ต.หัวเขา อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี กว่า 3,000 ไร่ นายจุฑาภัทร์ โสภณรัตนกุล หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม สำนักงานจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมที่ 26 และอีกสถานะหนึ่งเป็นผู้จัดการแปลง ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานและถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร โดยมีเกษตรกรเป็นประธานแปลง
พื้นที่นี้มีระบบจัดการเป็นข้าวเกษตรแปลงใหญ่ 2,000 ไร่อยู่แล้ว โดยแบ่งเป็นเกษตรแม่นยำสูง 100 กว่าไร่
นายจุฑาภัทร์กล่าวว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการจัดทำรูปแบบการเกษตรแบบแม่นยำสูงคือต้นทุนการผลิต อันเนื่องมาจากการใช้เทคโนโลยีและการจัดการข้อมูล ตั้งแต่การปลูกข้าว เดิมทีใช้การหว่านโดยเครื่องพ่น ซึ่งใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว 25-30 กิโลกรัม/ไร่ แต่เมื่อใช้เครื่องหยอดสามารถลดเมล็ดพันธุ์เหลือเพียงไร่ละ 7-15 กิโลกรัม อีกทั้งปลอดภัยจากนกจิกกินเมล็ดพันธุ์ ต่างจากการหว่านที่นกพร้อมจิกกินและสูญเสียเมล็ดพันธุ์
ส่วนการให้ปุ๋ยเคมี เกษตรแม่นยำสูงจะเจาะดินเป็นจุดๆ เพื่อวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน ให้รู้ว่าดินแต่ละจุดมีหรือขาดธาตุอาหารสำคัญสำหรับข้าวหรือไม่ ทำให้การให้ปุ๋ยถูกต้องตามความต้องการของพืช ไม่ใช่การหว่านคลุมๆ อย่างที่เคยทำมา ซึ่งสิ้นเปลืองเพราะอาจเกินความต้องการของต้นข้าว
“ปริมาณการใช้ปุ๋ยลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เกษตรกรประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไป”
การให้ปุ๋ย ทางโครงการใช้เครื่องบินไร้คนขับหรือโดรนให้ปุ๋ยแทนการใช้คน ซึ่งใช้เวลานาน มีค่าแรงงาน ในขณะที่โดรนทำงานได้รวดเร็วและแม่นยำในการทิ้งปุ๋ยที่ต้องการตามจุดที่วิเคราะห์ไว้ก่อนแล้ว
“ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากเกษตรกรเองยังไม่ยอมรับเทคโนโลยีหรือวิธีทำแบบนี้ เคยชินกับสูตรการใช้ปุ๋ยอย่างไรก็ใช้อย่างนั้น อย่างของโครงการเกษตรแม่นยำสูง เราใช้ปุ๋ยสั่งตัดที่จะตอบโจทย์ความต้องการของข้าว ช่วงไหนจะเน้นบำรุงต้น ดอกและผล และให้เฉพาะจุดด้วย ซึ่งเกษตรกรเองไม่เคยเห็น บางส่วนเอาด้วย บางส่วนก็ไม่ยอม” นายจุฑาภัทร์กล่าว
ส่วนการให้น้ำข้าว ชาวนาส่วนใหญ่ให้น้ำตลอด ส่งผลให้ต้นข้าวไม่ยอมแตกกอ ในขณะเกษตรแม่นยำสูงการให้น้ำจะควบคู่ไปกับพฤติกรรมของต้นพืช จะให้ข้าวแตกกอต้องใช้กระบวนการแกล้งข้าวด้วยการงดให้น้ำ เพื่อบังคับให้ต้นข้าวแตกกอและแตกรวงในที่สุด
“แกล้งข้าวเพื่อให้ข้าวรู้สึกเหมือนจะตาย ต้องรีบแตกกอ ออกรวง เช่นเดียวกับจะให้น้อยหน่าออกผลก็ต้องตัดแต่งกิ่งเพื่อบังคับให้ออกดอกและผล ไม่อย่างนั้นมันก็ไม่ยอมออกดอกและผล”
นอกจากนั้น ตนยังพัฒนาโปรแกรมการให้น้ำพืชตามหลักวิชาการชลประทาน ซึ่งในอนาคตสามารถใช้ผ่านโทรศัพท์มือถือระบบแอนดรอยด์ได้ก่อน
เกษตรแม่นยำสูงมาถึงจุดเก็บเกี่ยวซึ่งต้องคำนวณจังหวะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้ข้าวได้คุณภาพที่สุด ไม่เก็บเกี่ยวเร็วเกินไปจะทำให้มีความชื้นสูง น้ำหนักมากจริงแต่จะถูกหักค่าความชื้น หรือเก็บเกี่ยวช้าเกินไปข้าวจะแห้งกรอบ มีน้ำหนักน้อย ซึ่งต่างจากที่เกษตรกรทำ โดยทั่วไปเร่งเก็บเกี่ยวจึงทำให้ได้ราคาไม่ดี โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมน่าจะเป็นปลายฤดูฝนหรือประมาณเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งไม่เป็นปัญหาเรื่องน้ำเพราะพื้นที่ ต.หัวเขาน้ำไม่ท่วม
ส่วนเรื่องการตลาด เพื่อให้เกษตรกรสามารถรับรู้ราคาข้าวล่วงหน้าได้ จึงประสานกับโรงสีทำบันทึกข้อตกลง (MOU) เรื่องราคารับซื้อจากเกษตรกรในโครงการ เป็นการประกันความมั่นใจได้ระดับหนึ่ง
นายจุฑาภัทร์กล่าวว่า ในเรื่องการลดต้นทุนแม้จะยังไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่เนื่องจากติดขัดเกษตรกรบางส่วนยอมรับ บางส่วนก็ไม่ยอมรับ แต่ในระยะเริ่มต้นสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ไม่น้อยกว่า 5% และจะมากกว่านี้หากมีการใช้เทคโนโลยีและการจัดการข้อมูลเข้าไปในแปลงมากขึ้น
ส่วนผลผลิต เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการดำเนินการเกษตรแม่นยำสูงเป็นครั้งแรก ผลผลิตข้าวยังไม่ออกมาจนกว่าจะสิ้นเดือนตุลาคม โดยคาดการณ์ไว้อาจใกล้เคียงหรือเพิ่มจากผลผลิตจากข้าวแปลงใหญ่เล็กน้อย
“เป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมการเกษตรไทย ถ้าลองทำแล้วสำเร็จ ต่อไปจะมีผู้เข้าร่วมโครงการมากขึ้นเองตามธรรมชาติ เหมือนเรื่องอื่นๆ ที่ต้องมีกลุ่มคนเริ่มต้น แล้วถึงจะมีคนก้าวตามมา” นายจุฑาภัทร์กล่าว