xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.ตั้ง 7.2 พันล้านใช้คืน “เอกชน 3 สนามบิน” ลงทุนโครงสร้างเผื่อสีแดงและไฮสปีดจีน-ญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ร.ฟ.ท.เคลียร์แบบก่อสร้างแอร์พอร์ตลิงก์ต่อขยาย ยันโอน “เอกชน 3 สนามบิน” รับเหมางานโยธา คลองแห้งช่วงจิตรลดาร่วมกับสายสีแดง Missing Link และโครงสร้างร่วมช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองกับไฮสปีดไทย-จีน และไทย-ญี่ปุ่น ตั้งวงเงินกว่า 7.2 พันล้านใช้คืนภายหลัง โยนคมนาคมชี้ขาดใช้ทางร่วมญี่ปุ่นหรือจีน ชี้เทคโนโลยีทำได้หมด

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ร.ฟ.ท.โดยบริษัทที่ปรึกษาได้ชี้แจงรายละเอียดในการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 224,544.36 ล้านบาท เพิ่มเติมแก่เอกชนผู้ซื้อซอง 31 ราย เกี่ยวกับการก่อสร้างแนวเส้นทางการพัฒนาที่ดิน ซึ่งในการก่อสร้างงานโยธาจะมีส่วนที่ต้องใช้โครงสร้างร่วมกับโครงการอื่น ได้แก่ โครงการสายสีแดง Missing Link และรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ และสายตะวันออกเฉียงเหนือ การแบ่งพื้นที่ใช้งานของสถานีกลางบางซื่อ นำเสนอการดำเนินงาน สถานะผลประกอบการของโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ การใช้พื้นที่มักกะสันและพื้นที่สถานีต่างๆ แผนพัฒนาพื้นที่มักกะสัน การส่งมอบพื้นที่

นอกจากนี้ยังมีการพาเอกชนที่ซื้อซองทั้ง 31 รายลงพื้นที่สถานีรถไฟฟ้ามักกะสันศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และแนวเส้นทางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ในปัจจุบัน จากมักกะสัน-สุวรรณภูมิอีกด้วย

สำหรับการก่อสร้างงานโยธา รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมืองนั้นจะต้องก่อสร้างโครงสร้างเผื่อรถไฟสายสีแดงอ่อน (Missing Link) ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ซึ่งเป็นรูปแบบอุโมงค์คลองแห้งบริเวณผ่านสถานีจิตรลดา ระยะทางประมาณ 3 กม.เพื่อลดการเปิดหน้าดินเพื่อก่อสร้างซ้ำซ้อนหลายครั้ง โดยจะเร่งประมูล Missing Link ในต้นปี 2562

และอีกจุดคือ ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่ง ร.ฟ.ท.มีพื้นที่เขตทางจำกัด สามารถวางรางมาตรฐานขนาด 1.435 เมตรได้เพียง 2 คู่เท่านั้น ขณะที่แนวเส้นทางดังกล่าวจะมีถึง 3 โครงการ คือ แอร์พอร์ตลิงก์, รถไฟความเร็วสูง ความร่วมมือไทย-จีน และไทย-ญี่ปุ่น โดยเฉพาะช่วงก่อนเข้าสถานีดอนเมืองเขตทางจะแคบลง จำเป็นต้องปรับโครงสร้างเพื่อวางทางวิ่งซ้อนกัน ดังนั้น หลักการเมื่อรถไฟเชื่อม 3 สนามบินประมูลและเริ่มก่อสร้างก่อนจะต้องทำโครงสร้างร่วมนี้ และใช้คืนค่าก่อสร้างให้ผู้บริหารรถไฟ 3 สนามบินภายหลังทั้ง 2 จุด

ตามแผนงาน รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินได้ประเมินค่าก่อสร้างงานโยธาสำหรับโครงการสายสีแดง Missing Link เพื่อสร้างอุโมงค์ช่วงจิตรลดา และรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ (ไทย-ญี่ปุ่น) และสายตะวันออกเฉียงเหนือ (ไทย-จีน) ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ไว้ที่ 7,210.67 ล้านบาท

“ตัวโครงสร้างร่วมหลักการคือ ใครมาก่อนสร้างก่อน ใครมาทีหลังก็มาใช้คืนค่าก่อสร้างกัน ส่วนการใช้ทางร่วมกัน (Share Track) นั้น ที่ผ่านมาทางญี่ปุ่นระบุว่ารถไฟชินคันเซ็นจะไม่ใช้ทางร่วมกับระบบใด ซึ่ง ร.ฟ.ท.ยืนยันเขตทางจำกัด มีความจำเป็นต้องใช้ทางร่วม และเสนอกระทรวงคมนาคมไปแล้ว ก็ต้องเจรจากัน ทางเทคนิคแก้ไขได้ ระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟความเร็วสูงสามารถติดอุปกรณ์เพิ่มได้ อยู่ที่เจ้าของเทคโนโลยีจะยินยอมหรือไม่ ซึ่งช่วงจากบางซื่อไปดอนเมืองระยะทาง 10 กว่า กม.ไม่มีปัญหาด้านการลงทุนและเป็นเขตในเมืองซึ่งใช้ความเร็วได้ประมาณ 160 กม./ชม.เท่านั้น”

สำหรับการเวนคืนนั้น ได้งบประมาณรวมกว่า 3,500 ล้านบาท โดยจะมีการเวนคืนและจ่ายค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างประมาณ 254 ครัวเรือน มีจุดที่เวนคืนบริเวณ ฉะเชิงเทรา จำนวน 550 ไร่ (เป็นเดปโป้ 380 ไร่ ขนานไปกับทางรถไฟเดิม พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรม) อีก 100 ไร่เศษจะใช้สำหรับก่อสร้างทางวิ่ง และตัวสถานีอีกกว่า 70 ไร่ ใช้ค่าเวนคืนและรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างประมาณ 2,900 ล้านบาท นอกจากนี้ จะมีการเวนคืนที่บริเวณลาดกระบัง เป็นทางเข้าออกสถานีสุวรรณภูมิ และสำหรับทางวิ่งและทางเข้าสถานีอู่ตะเภา อีกประมาณ 850 ไร่

นายวรวุฒิกล่าวถึงความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ ภายใต้ความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ว่า เสนอผลการศึกษาไปกระทรวงคมนาคมแล้ว โดยอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งผลการศึกษาพบว่ามีผลตอบแทนทางการเงินต่ำเพราะปริมาณผู้โดยสารน้อยประมาณหมื่นคน/วัน ซึ่งโครงการจะอยู่ได้ต้องมีผู้โดยสารถึง 3 หมื่นคน/วัน ดังนั้นต้องหารายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ (TOD) ร.ฟ.ท.จำเป็นต้องเวนคืนที่ดินบริเวณพิษณุโลกเพื่อนำทำ TOD เพื่อเพิ่มผลตอบแทนโครงการ เป็นต้น ซึ่งเป็นรูปแบบที่จะช่วยให้เอกชนสามารถลงทุนได้

อย่างไรก็ตาม รถไฟความเร็วสูงเป็นการลงทุนเพื่อซื้ออนาคต อาจจะมีความเสี่ยงบ้าง ซึ่งรัฐบาลมองว่าขณะนี้อัตราดอกเบี้ยต่ำ หากรอให้พร้อมแล้วค่อยลงทุนอาจจะไม่ทันเวลาและค่าก่อสร้าง ค่าที่ดินจะแพงกว่านี้อีก


กำลังโหลดความคิดเห็น