กรมชลประทานปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าเชียด จ.พัทลุง รองรับการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชของเกษตรกรในพื้นที่กว่า 1 แสนไร่ ขณะเดียวกันเร่งรัดแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำขาดแคลนในคาบสมุทรสทิงพระ ตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการเมื่อครั้งประชุม ครม.สัญจร
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน และคณะ เดินทางตรวจเยี่ยมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าเชียด จ.พัทลุง ซึ่งมีพื้นที่กว่า 1 แสนไร่ พบว่าเกษตรกรอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชขนานใหญ่ จากเดิมเคยปลูกข้าวเกือบทั้งหมดเปลี่ยนมาเป็นยางพาราและปาล์มน้ำมัน โดยมีพื้นที่ปลูกข้าวเหลือเพียง 5,000 ไร่ เนื่องจากประสบปัญหาเรื่องน้ำและแรงจูงใจเรื่องราคายางพาราในอดีตที่สูงเกินกว่ากิโลกรัมละ 100 บาท
อย่างไรก็ตาม เท่าที่ได้พูดคุยกับกำนันและผู้นำชุมชนในพื้นที่ทราบว่า ขณะนี้เกษตรกรในโครงการส่งน้ำฯ ท่าเชียด อยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนการปลูกพืชครั้งใหญ่อีกรอบ โดยหันมาทำเกษตรผสมผสานตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ มากขึ้น เนื่องจากพบว่ายั่งยืนกว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยคาดว่าจะขยายพื้นที่ปลูกมากกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่โครงการกว่า 1 แสนไร่
ในส่วนของกรมชลประทานเองกำลังศึกษาปรับปรุงโครงการส่งน้ำฯ ท่าเชียด ทั้งด้านแหล่งน้ำต้นทุนโดยเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำคลองหัวช้างจาก 30 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 33 ล้านลูกบาศก์เมตร และเสริมสันฝายท่าเชียดจากเดิมเก็บน้ำในลำน้ำได้ 5 แสนลูกบาศก์เมตร เป็น 8 แสนลูกบาศก์เมตร จะช่วยเพิ่มความมั่นคงเรื่องน้ำได้มากขึ้น และยังปรับปรุงโครงสร้างคลองส่งน้ำทั้ง 8 สาย ความยาวรวม 90 กิโลเมตร เนื่องจากทรุดโทรมจากการใช้งานมานานเกือบ 50 ปี
รองอธิบดีกรมชลประทานยังได้เดินทางตรวจเยี่ยมโครงการปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.ระโนด อ.กระแสสินธุ์ อ.สทิงพระ และ อ.สิงหะนคร ส่วนใหญ่ทำนาปลูกข้าว และประสบปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำขาดแคลน ซึ่งในการประชุม ครม.สัญจร เมื่อปี 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้เร่งแก้ปัญหาโดยเร็ว ขณะนี้กรมชลประทานได้ขุดขยายคลองเพื่อระบายน้ำจากทะเลสาบสงขลาไปสู่ทะเลโดยเร็วในหลายจุดด้วยกัน ซึ่งเป็นคลองสั้น ระบายน้ำได้เร็ว แทนอาศัยการระบายตามเส้นทางน้ำธรรมชาติ ผ่านลงไปปากรอ อ.สิงหะนคร ออกทะเลเพียงจุดเดียวซึ่งล่าช้า ไม่ทันต่อภาวะน้ำหลากท่วมที่มาจาก จ.นครศรีธรรมราช จ.พัทลุง และ จ.สงขลา
นอกจากนั้นยังสร้างแนวคันกั้นน้ำบริเวณริมทะเลสาบสงขลา อ.กระแสสินธุ์ เพื่อป้องกันน้ำท่วมเนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ
ส่วนการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในคาบสมุทรสทิงพระ เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนขนาดใหญ่ กรมชลประทานกำลังเร่งขุดขยายคลองพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก เพิ่มความจุจาก 2 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 8 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับใช้เพาะปลูกฤดูแล้ง เนื่องจากน้ำในทะเลสาบสงขลามีค่าความเค็มสูงจากน้ำทะเลที่หนุนขึ้นมา บางครั้งไม่เหมาะสมสำหรับใช้เพาะปลูก
หากปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระแล้วเสร็จจะเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรในคาบสมุทรได้ดีขึ้นอย่างชัดเจน