“อุตตม” สั่ง กสอ.และเอสเอ็มอีแบงก์ปรับดอกเบี้ยกองทุนหมุนเวียนฯ ใหม่เพื่อให้ชุมชนที่เป็นอุตสาหกรรมครอบครัวและหัตถกรรมระดับย่อยเข้าถึงหลังดอกเบี้ยสูงลิ่ว6% ทำให้ยังเหลือวงเงิน 100 ล้านบาท หวังหนุนแจ้งเกิดหมู่บ้าน CIV ทั่วประเทศที่ตั้งเป้าผุด 450 ชุมชนในปี 2562 ลุยเยี่ยมชุมชนหมู่บ้าน CIV “ออนใต้” จ.เชียงใหม่หนุนอัตลักษณ์เฉพาะตัวสร้างรายได้เพิ่ม
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) ที่หมู่บ้านออนใต้ จังหวัดเชียงใหม่เมื่อเร็วๆ นี้ว่า เพื่อให้ผู้ประกอบการชุมชนในโครงการ CIV เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น ล่าสุดได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) พิจารณาปรับเงื่อนไข และอัตราดอกเบี้ยของกองทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยที่มีวงเงินเหลือ 100 ล้านบาทใหม่ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ 6% สูงเกินไป
“กองทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพฯ เริ่มมีตั้งแต่ปี 2525 วงเงินยังเหลืออีกพอสมควร และมองว่าเข้าคุณลักษณะของผู้ประกอบการในหมู่บ้าน CIV ที่เป็นอุตสาหกรรมในครอบครัว และหัตถกรรม จึงให้ไปดูดอกเบี้ยว่าเท่าใดจะเหมาะสมแต่ 6% สูงเกินไป เมื่อเทียบกับสินเชื่อคนตัวเล็กของเอสเอ็มอีแบงก์ที่กำหนดเพียง 1% ส่งผลให้ไม่ค่อยมีผู้ประกอบการชุมชนเข้ามาขอสินเชื่อ และหากมีคนมาขอมากแล้ววงเงินที่เหลือไม่พอก็ค่อยพิจารณากันใหม่ได้” นายอุตตมกล่าว
สำหรับโครงการหมู่บ้าน CIV มีเป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง โดยการเข้ามาพัฒนาและต่อยอดผ่านกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้วยการพัฒนานำเทคโนโลยีและเครื่องมือที่สามารถยกระดับผลิตภัณฑ์เพื่อการสร้างตลาดใหม่ๆ จนทำให้หลายชุมชนประสบความสำเร็จในด้านการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นเข้าสู่ชุมชน จากปัจจุบันที่ดำเนินการไปแล้ว 161 ชุมชน และได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 450 ชุมชนภายในปี 2562ครอบคลุมทั่วประเทศ ที่ได้กำหนดแผนที่เป็นรูปธรรมในการเข้าไปพัฒนาผู้ประกอบวิสาหกิจชุมชน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งยกระดับเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) ตามแนวประชารัฐ ซึ่งล่าสุดให้ กสอ.ใช้ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต หรือ ITC ที่อยู่แต่ละพื้นที่เข้าไปร่วมพัฒนาสินค้าให้ผู้ประกอบการโครงการ CIV ให้เข้าถึงเทคโนโลยี และนวัตกรรมมากขึ้น