คอลัมน์ ทันประเด็น
โดย กระบังลม
วันนี้มาถึงความดีใจร่วมกันของคนไทยทั้งชาติ ที่นักดำน้ำทั้งของไทยเราและนักดำน้ำนานาชาติ ที่ท่านมาร่วมกันปฏิบัติภารกิจในการนำทีมหมูป่าอะคาเดมีออกจากถ้ำไปเรียบร้อยแล้ว ก็ขอขอบคุณทุกท่านที่สร้างชื่อเสียงให้เมืองไทย ไม่ว่าจะหน่วยงานจากส่วนราชการและเอกชนที่เปิดเผยชื่อและอยู่เบื้องหลังและทำงานโดยที่ไม่มีใครกล่าวถึงในพื้นที่ข่าว ทั้งทีมลุยป่าปิดตาน้ำ ทีมบายพาสน้ำออกไม่ให้เข้าถ้ำ ทีมดำน้ำ ทีมเจาะถ้ำ รวมทั้งหน่วยสนับสนุนทั้งมหาดไทย ตำรวจ ทหาร ทีมสาธารณสุข รวมทั้งวิศวกรที่ไประดมสรรพกำลังกันหลายหน่วยงาน จนความสำเร็จภารกิจระดับโลกนี้กำลังจะปิดมิชชันอิมพอสสิเบิลลงได้
“กะบังลม” เห็นมีบุคคลที่ต้องเอ่ยถึง บริษัทที่ต้องเอ่ยถึงที่โลว์โปรไฟล์อย่างยิ่ง เพราะกลัวจะเป็นประเด็นดรามาในสังคมขึ้นมาอีก คือบริษัทอิตาเลียนไทยฯ ที่นายใหญ่อย่าง เปรมชัย กรรณสูต ไปกินไปนอนในป่าหน้าถ้ำ บัญชาการสนับสนุนในเรื่องการเจาะถ้ำ การเบี่ยงทางน้ำรวมทั้งส่งเครื่องมือในการสำรวจในการเจาะถ้ำไปสนับสนุนเป็นสิบๆ คันรถจากสระบุรีแต่ขอให้สื่อมวลชนไม่นำเสนอข่าว ขอทำงานปิดทองหลังพระจนทำให้หลายๆ เรื่องสำเร็จลงได้ เพราะประสบการณ์ทั้งของเปรมชัยและทีมงานในเรื่องการทำเหมืองแร่และเจาะหินระเบิดถ้ำก็ไม่แพ้ใครในโลกเหมือนกัน
งานนี้ก็ขอนับถือน้ำใจอย่างยิ่งที่เป็นหน่วยงานที่สร้างโครงการระดับประเทศมามากมาย แล้วนำประสบการณ์ที่ผ่านมาช่วยแก้ปัญหาที่คนไทยลุ้นทั้งชาติในวันนี้ ก็ขอให้คดีความที่เจออยู่บรรเทาลงตามคุณงามความดีที่ได้ทำไว้ด้วย
มีเรื่องอยากจะบอกอยากจะเล่าให้ฟังว่า ทุกท่านที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ทุ่มเทพลังกายพลังใจอย่างยิ่ง เพราะนอกจากนายกฯ ตู่และทีมรัฐมนตรี ทั้งรัฐมนตรีมหาดไทย รัฐมนตรีท่องเที่ยวและกีฬาจะลงไปในพื้นที่ปฏิบัติการอย่างจริงจัง ทั้งเรื่องประสานงานและนำนักดำน้ำมืออาชีพระดับโลกมาช่วยแล้ว ยังมีข้าราชการระดับสูงในราชสำนักไปให้กำลังใจให้ทุกคนที่ทำงาน ถ่ายทอดพระราชกระแสให้กำลังใจคนทำงาน จนผลงานออกมาดังระดับโลก ก็ขอชื่นชมทุกท่านมาในที่นี้ด้วย
กลับมาที่เรื่องรถไฟฟ้าสายสีแดงกันต่อ จากที่ว่าไว้ว่าการรถไฟไทยทำราคากลางอีท่าไหนจนต้องมีการปรับราคาแถมปรับราคาให้ผู้รับเหมากันสามสี่รอบเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท เลยพานไปนึกถึงว่า กรรมการราคากลางแห่งชาติ ที่มีหนังสือมาตรฐานหนา เป็นเหมือนคัมภีร์ให้คนคิดราคากลางการก่อสร้างกัน ทุกหน่วยงานแบบนี้มันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรก็เลยหาความรู้ลองถามผู้รู้
ท่านก็ว่าไว้ว่า มาตรฐานการคิดราคากลางของกรมบัญชีกลางที่มีไว้นั้นเป็นเรื่องหลอกเด็กเท่านั้น ไม่ได้มีสาระอะไรเลย วิธีการก็เก่าโบราณเสียจนราคากลางที่คิดออกมาได้นั้นเป็นราคาที่เอาไปใช้ไม่ได้ แถมยังขาดมาตรฐานตามหลักสากลอีก เป็นเรื่องปาหี่หลอกเด็กเสียมากกว่า แถมข้อกำหนดคิดราคาทำให้การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐชะงักเสียเวลา หากประมูลไม่ทันในเดือนนั้นต้องคิดราคากันใหม่ทุกเดือนเพราะไปอิงราคากระทรวงพาณิชย์ที่ให้ใช้ราคาสินค้าตามที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศราคาทุกเดือน
แต่ราคาสินค้าที่กำหนดให้อ้างอิงกระทรวงพาณิชย์นั้นก็เอาไปใช้ไม่ได้ เพราะเป็นราคาที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศราคาเพดานสูงสุดไว้ ไม่ใช่ราคาสินค้าที่ซื้อขายจริงแถมยังบอกว่าค่าแรงงานที่กำหนดก็ไม่ได้ผันแปรตามค่าแรงขั้นต่ำกำหนดราคากันไว้แต่ปีมะโว้ กลายเป็นสองส่วนผสมกันมั่วๆ แต่ราคาสินค้าที่กำหนดไปทางสูงมากกว่า
“กะบังลม” ขอบอกว่าเป็นที่มาของราคาประมูลที่เวลาผู้รับเหมาฮั้วราคากัน ไม่ติดเลยฟันกันลดราคาจากราคากลางกันได้เป็นสิบยี่สิบเปอร์เซ็นต์ แถมมีการกำหนดว่านอกจากใช้ราคากลางสินค้าจากกระทรวงพานิชย์แล้วให้ผู้คิดราคากลางสืบราคาในตลาดด้วย ก็น่าสงสัยว่าราคาที่สืบจากคนคิดราคากลางที่ไม่เคยซื้อสินค้าจริงๆ สงสัยข้อแรกจะไปสืบราคาจากไหน ข้อที่สงสัยอีกก็สมมติสืบราคาได้ ราคาที่ได้มามันคือราคาที่ผู้รับเหมาซื้อจริงไหมหรือร้านค้าส่งราคามั่วมาให้ เพราะยังไงคนคิดราคากลางก็ไม่เคยซื้อจริงอยู่แล้ว
งานนี้เลยฟันธงได้ว่ามันมั่วไปหมด ความจริงต้องบอกว่าให้ลองไปดูรายละเอียดในมาตรฐานการคิดราคากลาง เอาเป็นว่างานใหญ่แบบรถไฟฟ้าหรืองานสร้างสนามบิน งานรถไฟความเร็วสูง ไม่ได้มีกำหนดมาตรฐานการคิดราคากลางไว้ แบบนี้นี่เอง เลยทำให้ราคาที่ประมูลได้มันออกมาทะแม่งๆ ราคาประมูลผู้รับเหมาเท่าราคากลางเกือบทุกที
มันเป็นไปได้ไหมว่า คนคิดราคากลางก็คือผู้รับเหมาที่จะรับงานนั้นเอง ชักน่าคิดครับ