เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนสรุปผลการเจรจาความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียนได้แล้ว เตรียมเสนอรัฐมนตรีเศรษฐกิจลงนามเดือน ส.ค.นี้ คาดช่วย SMEs มีโอกาสค้าขายออนไลน์ เผยจะมีการลงนามพิธีสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า และข้อผูกพันเปิดตลาดบริการชุดที่ 10 ด้วย พร้อมติดตามการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าของสมาชิกหลังพบมีมากขึ้น หวั่นกระทบการค้าในภูมิภาค
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) ระหว่างวันที่ 7-8 ก.ค. 2561 ที่สิงคโปร์ ว่า ในการประชุมครั้งนี้อาเซียนได้ข้อสรุปในเรื่องที่สำคัญหลายเรื่อง โดยเฉพาะการจัดทำความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน ที่จะมีการเพิ่มความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) การคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ระบบลอจิสติกส์ และระบบการชำระเงิน ซึ่งจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในอาเซียน และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ให้มีโอกาสค้าขายออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยจะมีการลงนามในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเดือน ส.ค. 2561 นี้
สำหรับเรื่องอื่นๆ ที่จะมีการลงนาม ได้แก่ พิธีสารเพื่อรองรับการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและอำนวยความสะดวกให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสามารถรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองและลดการติดต่อภาครัฐ และการลงนามข้อผูกพันเปิดตลาดบริการชุดที่ 10 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน (AFAS)
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) ให้ใช้งานได้จริงระหว่างอาเซียน 10 ประเทศ โดยปัจจุบันมีการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (E-Form D) กันแล้ว 5 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม และอีก 3 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ บรูไน และกัมพูชา ได้เริ่มทดลองใช้ระบบแล้ว
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้มีการประเมินและทบทวนมาตรการที่มิใช่ภาษีของอาเซียน เพื่อไม่ให้มีการนำมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) มาใช้เป็นเครื่องมือกีดกันการค้า เพราะปัจจุบันอัตราภาษีในอาเซียนส่วนใหญ่เป็น 0% เกือบหมดแล้ว แต่กลับกลายเป็นว่าอาเซียนมีการนำมาตรการกีดกันทางการค้ามาใช้กันมากขึ้น เช่น อินโดนีเซียกีดกันลำไยไทย เวียดนามกีดกันการนำเข้ารถยนต์ เป็นต้น ซึ่งที่ประชุมขอให้สมาชิกอย่าใช้มาตรการที่จะเป็นอุปสรรคต่อการค้าในภูมิภาค