xs
xsm
sm
md
lg

เร่งสรุปโมเดลตั้งองค์กรอิสระใน ก.ค. บริหารรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
ที่ปรึกษาการเงิน 3 ราย นำเสนอโมเดล ตั้งองค์กรอิสระบริหารโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน “ไพรินทร์” คาดเลือกรูปแบบที่เหมาะสมได้ใน ก.ค.นี้ เน้นคล่องตัวอิสระจากรถไฟ มีประสิทธิภาพ

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ว่าได้มีการพิจารณาหลักเกณฑ์การประเมินกรอบแนวคิดและแนวทางการดำเนินการจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ซึ่งมีบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน 3 แห่ง ที่จดทะเบียนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นำเสนอรูปแบบคาดว่าจะสามารถสรุปรูปแบบขององค์กรและกรอบระยะเวลาการจัดตั้งองค์กรดังกล่าวได้ภายใน 2 สัปดาห์ หรือช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้

ทั้งนี้ รูปแบบของการจัดตั้งองค์กรบริหารรถไฟความเร็วสูงที่เหมาะสม จะต้องพิจารณาถึงการบริหารจัดการ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และการกำกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง เพื่อให้สามารถจัดตั้งองค์กรได้ทันกับการเปิดให้บริการโครงการรถไฟความเร็วสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นองค์กรพิเศษ มีความเป็นอิสระจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)

ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า หลักการขององค์กรคือต้องอิสระจาก ร.ฟ.ท. และมีประสิทธิภาพในการทำงาน ประเด็นคือต้องมีความคล่องตัว โดยที่ปรึกษาทั้ง 3 รายได้นำเสนอแนวคิดให้คณะอนุกรรมการฯ ในลักษณะเป็นพันธมิตรให้แนวทางในการเริ่มต้น เบื้องต้นข้อมูลยังไม่เปิดเผยว่าแต่ละรายเสนอรูปแบบใด หลังจากนี้คณะอนุกรรมการฯ จะพิจารณาว่าข้อเสนอของที่ปรึกษารายใดเหมาะสมที่สุด

โดยครั้งนี้มีที่ปรึกษาทางการเงินจำนวน 3 รายเข้านำเสนอข้อมูล เป็น 3 ใน 8 รายที่ได้เข้าร่วมประชุมครั้งก่อนหน้า ได้แก่ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์, บมจ.ธนาคารกสิกรไทย, บมจ.ธนาคารยูโอบี, บจก.เพลินจิต แคปปิตอล, บมจ.บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย), บจก.บล.ฟินันซ่า, บจก.อวานการ์ด แคปปิตอล และ บจก.ไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ เอฟเอเอส

ครม.มีมติเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2560 อนุมัติให้ ร.ฟ.ท.ดำเนินโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วง กรุงเทพ-นครราชสีมา) และให้กระทรวงคมนาคม ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาแนวทางการจัดตั้งองค์กรพิเศษที่เป็นอิสระจากการกำกับการของ ร.ฟ.ท.เพื่อดำเนินโครงการให้มีประสิทธิภาพ โครงสร้างองค์กรมีความคล่องตัวในการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง


กำลังโหลดความคิดเห็น